วันสุดท้าย (4ม.ค. 53)เกิดอุบัติเหตุ245 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 38 คน รวม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุ 3,534 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 347 คน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 5, 2010 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ปภ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ประจำวันที่ 4 มกราคม 2553 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 245 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 38 คน ผู้บาดเจ็บ 264 คน รวม 7 วัน (29 ธันวาคม 2552 — 4 มกราคม 2553) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,534 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 347 คน ผู้บาดเจ็บ 3,827 คน ประสานจังหวัด นำข้อมูลอุบัติเหตุไปวิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการ และปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานแถลงข่าวพิธีปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2553 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 4 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “7 วันขับขี่ปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน” เกิดอุบัติเหตุ 245 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (275 ครั้ง) 30 ครั้ง ร้อยละ 10.91 ผู้เสียชีวิต 38 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (32 คน) 6 คน ร้อยละ 18.75 ผู้บาดเจ็บ 264 คน ลดลงจากปี 2552 (297 คน) 33 คน ร้อยละ 11.11 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 5 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 18 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี 19 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 54 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ มี 19 จังหวัด ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,716 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 70,802 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 590,237 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 67,467 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.43 ของการเรียกตรวจ โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 21,937 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 21,731 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน (วันที่ 29 ธันวาคม 2552 — 4 มกราคม 2553) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,534 ครั้ง ลดลงจากปี 2552 (3,824 ครั้ง) 290 ครั้ง ร้อยละ 7.58 ผู้เสียชีวิตรวม 347 คน ลดลงจากปี 2552 (367 คน) 20 คน ร้อยละ 5.45 ผู้บาดเจ็บรวม 3,827 คน ลดลงจากปี 2552 (4,107 คน) 280 คน ร้อยละ 6.82 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 125 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา 12 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 146 คน ไม่มีจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วัน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วัน มี 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สกลนคร และอ่างทอง ไม่มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บในช่วง 7 วัน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 40.46 รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.12 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.60 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 60.27 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 35.40 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.74 ช่วงที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กลางคืน ร้อยละ 67.46 โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 29.46 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 55.61 รวม 7 วัน ตั้งจุดตรวจหลักรวม 18,852 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 483,689 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 4,587,332 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 449,673 ราย โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 149,024 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 137,238 ราย นายชวรัตน์ กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 พบว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติหตุทางถนนมีสาเหตุจากการเมาแล้วขับเป็นอันดับแรก รองลงมา ขับรถเร็ว รถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย และตัดหน้ากระชั้นชิด โดยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ถนนสายรองในเขตความรับผิดชอบของเทศบาล อบต. ถนนของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งอยู่ ในพื้นที่ตำบลหมู่บ้านเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 64.60 แต่กลับ พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดบนถนนสายรองในเขต อบต. หมู่บ้าน และชุมชน ลดลงประมาณร้อยละ 9.80 สำหรับข้อมูลการดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎจราจร พบว่า ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถมากที่สุด รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดยวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับสูงสุด ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและจังหวัดนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ ไปดำเนินการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาจุดเสี่ยงอันตราย กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงปรับแผนการดำเนินงานในช่วงปกติและช่วงเทศกาลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ส่วนการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้แรงงานช่วงเทศกาล ให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดระบบอำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงเทศกาล โดยจัดหารถโดยสารสาธารณะรับส่งตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการเสริมสร้างพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินโครงการ 365 วัน ลดการตายด้วยวินัยจราจรอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการจับกุมผู้เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว แซงในที่คับขัน และความผิดอื่นๆ ตาม 10 ฐานความผิด นอกจากนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน โดยปลูกฝังการมีจิตอาสาในการทำงานเพื่อสังคม และจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสาธารณะ สำหรับปัญหาเด็กและเยาวชนดื่มสุราแล้วขี่รถจักรยานยนต์มากขึ้น ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบผลกระทบจากการเมาแล้วขับ ผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ขอฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ และอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมปฏิบัติการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มแข็งในครั้งนี้ ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ