กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ นครราชสีมาเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๓ โดยประสานจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯระดับจังหวัด และอำเภอ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากไฟป่าและเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดไฟป่า ตลอดจนจัดเตรียมรถดับเพลิงและเครื่องมืออุปกรณ์ดับเพลิง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าตลอด ๒๔ ชั่วโมง
นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี สภาพอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห้งแล้งและมีลมกระโชกแรง ประกอบกับต้นไม้ผลัดใบ ซึ่งใบไม้แห้งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้ง่าย สร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๕ นครราชสีมา จึงได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระดับจังหวัดจัดตั้ง ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อบูรณาการการดำเนินงานตามแผนและมาตรการด้านการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ดับเพลิง เช่น รถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ และรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วและเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากอัคคีภัยและไฟป่า แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และผลกระทบของไฟป่าที่มีต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดไฟป่า งดเว้นการจุดไฟใกล้บริเวณแนวชายป่าอย่างเด็ดขาด ส่วนเกษตรกรให้ใช้วิธีไถกลบวัชพืชแทนการเผา ตลอดจนควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนโดยจัดระบบการจัดเก็บคัดแยก และจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี ควบคุมไม่ให้เผาขยะมูลฝอยในเขตชุมชน และบริเวณริมทาง ส่วนการควบคุมในพื้นที่ป่า ให้ดำเนินมาตรการควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการระงับไฟป่า โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรา ดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ และการควบคุมไฟป่าในพื้นที่อย่างจริงจัง ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นไฟป่าหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า ๑๓๖๒ และสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง