กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--กรมประมง
นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงการดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบไอยูยูของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณปี ๒๕๕๓ จำนวน ๓๓ ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการรองรับกฎระเบียบดังกล่าว ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ นี้ เพื่อรักษาการส่งออกสินค้าประมงไม่ให้ลดลง หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยสินค้าประมงส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง กุ้ง และผลิตภัณฑ์หมึกสดและหมึกแปรรูป ทั้งนี้ เพื่อรองรับกฎระเบียบไอยูยู กรมประมง ได้ดำเนินการ ๖ แนวทางหลัก ประกอบด้วย
๑. การตรวจรับรองสัตว์น้ำขึ้นท่าและการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ
๒. การควบคุมการทำประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบไอยูยู
๓. การปรับปรุงสุขอนามัยเรือประมงและท่าเทียบเรือประมง
๔. ตั้งศูนย์ข้อมูลตรวจสอบรับรองการจับสัตว์น้ำ ทั้งส่วนกลางที่กรุงเทพฯ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ๒๒ จังหวัดชายทะเล
๕. ประชาสัมพันธ์การดำเนินการตามกฎระเบียบไอยูยู เพื่อให้ภาคเอกชน ได้แก่ ชาวประมง แพปลา ผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ส่งออก ทราบและเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามกฎระเบียบไอยูยูต่อเนื่อง
๖. จัดตั้งศูนย์ประสานงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
เป้าหมายการดำเนินงาน คือ เร่งจดทะเบียนเรือและอาชญาบัตรทำประมง ๗,๐๐๐ ลำ ด้วยการจัดหน่วยเคลื่อนที่ประชาสัมพันธ์และให้บริการชาวประมงในพื้นที่ รวมทั้งสำรวจตรวจสอบเพื่อรับรองเรือ สุขอนามัยประมง ในปี ๒๕๕๓ จำนวน ๙๐๐ ลำ เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง กันยายน ๒๕๕๓ รวมเวลา ๙ เดือน รวมถึงสำรวจเพื่อเตรียมรับรองท่าเทียบเรือประมง ๖๔ ท่า รวมถึงท่าเรือองค์การสะพานปลา ท่าเรือเทศบาล และท่าเรือเอกชน ใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล โดยตรวจดูจากปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่า และศักยภาพ สุขอนามัยท่าเทียบเรือเพื่อปรับปรุงในปีถัดไป