กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนักเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม พื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๗ — ๘ มกราคม ๒๕๕๓ ที่โรงแรมเจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เสริมศักยภาพด้านวิชาการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมให้แก่นักเฝ้าระวังในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ควบคู่องค์ความรู้ด้านการคิด วิเคราะห์ ข้อมูล เพื่อการส่งสัญญาณเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ โดยนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุม วันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๐๐ น.
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “งานเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม” ถือเป็นงานเชิงป้องกัน หากเราทำให้เป็นระบบและต่อเนื่อง ก็จะทำให้ภารกิจของกระทรวงฯ ครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถคุ้มครองและพัฒนาประชาชนได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม งานเฝ้าระวังจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูล และการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ บ้านพักเด็กและครอบครัว ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชน และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน งานเฝ้าระวังก็จะไปสู่เป้าหมายในการสร้างสังคมที่เอื้ออาทรและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้
นางนวลพรรณ กล่าวด้วยว่า กระทรวงให้ความสำคัญกับงานเฝ้าระวังฯ อย่างมาก จึงได้กำชับให้ พมจ. ในฐานะเลขานุการคณะทำงานระดับจังหวัด ให้ความสำคัญและต้องเร่งสร้างการยอมรับให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลต้องผลักดันให้เป็นวาระของจังหวัด และดำเนินการสร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมให้เกิดขึ้นในจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้
“การประชุมนักเฝ้าระวังฯ ในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๓ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เร่งดำเนินการจัดขึ้น เพื่อให้นักเฝ้าระวังฯ ได้เรียนรู้การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมแนวใหม่ นำไปใช้ในการขับเคลื่อนคณะทำงานของจังหวัดให้สามารถใช้กระบวนการดำเนินงานที่เป็นระบบ ที่สำคัญ การประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเน้นเรื่องการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมแล้ว ยังได้มีการกำหนดแนวทาง ช่องทางการส่งผ่านข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ นำข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดมากำหนดประเด็น จัดทำแผนเฝ้าระวังและเตือนภัยของจังหวัด รวมถึงการประสานงานเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้งานเฝ้าระวังและเตือนภัยในพื้นที่ภาคใต้มีความครบถ้วน เด่นชัด และแม่นยำ ตลอดจนได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมากขึ้น ส่งผลให้การปฏิบัติงานเฝ้าระวังในเชิงรุกควบคู่กับงานเชิงรับของศูนย์ประชาบดี โทร.๑๓๐๐ และบ้านพักเด็กและครอบครัว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นางนวลพรรณ กล่าว