เตือนเรือเดินทะเลของไทยที่เทียบท่าในอียูปฏิบัติตามระเบียบ การใช้น้ำมันซัลเฟอร์ต่ำในเรือ

ข่าวทั่วไป Friday January 8, 2010 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศระเบียบเกี่ยวกับการใช้น้ำมันซัลเฟอร์ ต่ำกว่า 0.1 % สำหรับเรือที่เทียบท่าในอียู โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป วัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จากเรือเดินทะเล เป็นจำนวน 500,000 ตันต่อปี ข้อกำหนดปริมาณซัลเฟอร์ในน้ำมันที่ใช้สำหรับเรือตามระเบียบนี้ ครอบคลุมเรือบรรทุกผู้โดยสาร เรือในเส้นทางเดินเรือในประเทศ และเรือที่จอดเทียบท่าเรือภายในอียู โดยไม่ได้ระบุขนาดระวางเรือ ทั้งนี้ เรือที่ติดธงชาติของประเทศสมาชิกอียูที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซ (Emission Abatement technologies) จะได้รับยกเว้นตามระเบียบ แต่ประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซ SO2 จะต้องเทียบเท่ากับการใช้น้ำมันที่มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำ สำหรับเรือของกรีซและเดินเรือภายในเขตแดนของกรีซ จะได้รับการขยายเวลาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2555 อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกเอกสารข้อเสนอแนะ (Commission Recommendation) ให้ประเทศสมาชิกอียูผ่อนผันความเข้มงวดในเรื่องดังกล่าว หากตรวจพบว่าเรือมีแผนปรับปรุงทางเทคนิคสำหรับติดตั้ง Boiler ภายในเรือ ซึ่งประกอบด้วย การทำสัญญากับผู้ผลิต Boiler ประเภทที่รองรับน้ำมันซัลเฟอร์ต่ำ โดยแผนปรับเปลี่ยนด้านเทคนิคดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองโดยองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งระบุวันที่จะดำเนินการตามแผนจนเสร็จสิ้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าเรือเดินทะเลของไทยที่จอดเทียบท่าเรือในอียูจะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้เช่นกัน และอาจติดตั้ง Boiler ใหม่ประเภทที่รองรับน้ำมันที่มีปริมาณสารซัลเฟอร์ต่ำไม่ทัน ดังนั้น จึงควรเตรียมแผนปรับปรุงทางเทคนิคดังกล่าวก่อนออกเดินเรือไปอียู ซึ่งผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้องสามารถดูรายละเอียดของระเบียบดังกล่าวได้ที่ Official Journal ฉบับ L191 Directive 2005/33/EC of 6 July 2005 as regards the sulphur content of marine fuels ที่มา : คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ