“กระดาษซับมัน ไคโตซาน” วิวัฒนาการกำจัดความมันบนใบหน้า

ข่าวทั่วไป Friday December 1, 2006 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--สกว.
ผลิตกระดาษซับหน้ามัน ไคโตซาน ชี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายได้ง่าย ไม่ทำให้แพ้หรือเกิดการระคายเคือง ใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค
ผิวมัน เป็นปัญหาที่พบได้ในผู้ที่มีสภาพผิวแบบผสมหรือผิวมัน สาเหตุของผิวหน้ามันมีหลายประการ ตั้งแต่กรรมพันธุ์หรือธรรมชาติของต่อมไขมันใต้ผิวหนังที่ผลิตน้ำมันออกมา การแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการล้างหน้า แต่นั่นเป็นวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นเพราะไม่นานต่อมไขมันก็จะขับน้ำมันมาเคลือบผิวใหม่และการล้างหน้าบ่อยครั้งยังเป็นการทำร้ายผิวมากขึ้น ทำให้ผิวแห้งและเกิดความระคายเคืองได้ ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ลดความมันบนใบหน้าเป็นจำนวนมาก เช่น สบู่ล้างหน้า แป้งลดความมัน แต่ผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้กันมากคือ แผ่นซับหน้ามัน โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่นและผู้หญิงเนื่องจากสามารถพกพาและใช้ได้สะดวกในทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังช่วยลดความมันบนใบหน้าได้ดี
แผ่นซับหน้ามันที่จำหน่ายทั่วไป ส่วนใหญ่ทำจากพอลิเมอร์ซึ่งจะมีปัญหาในการย่อยสลายมีบางส่วนที่ทำมาจากลินินหรือเยื่อกระดาษ และเติมส่วนผสมอื่นที่จำเป็นลงไปด้วย เช่น สารดูดซับหรือพลาสติกไซเซอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับความมันและทำให้แผ่นซับหน้ามันมีความเหนียวและยืดหยุ่นที่เหมาะสม โดยแผ่นซับหน้ามันที่มีขายอยู่จะมีหลายแบบและราคาแตกต่างกัน ถ้าเป็นแผ่นซับมันที่มีคุณภาพดี หรือเมื่อนำไปซับหน้าแล้วเหมือนกับได้ทาแป้งก็จะมีราคาแพงกว่า ซึ่งถ้าหากสามารถลดต้นทุนในการผลิตและยังได้แผ่นซับหน้ามันที่มีคุณภาพคงเดิม ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเลือกซื้อแผ่นซับหน้ามันสำหรับผู้บริโภค
โครงการพัฒนาแผ่นซับหน้ามันจากไคโตซาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย
ผศ.ดร.ภก. ภูริวัฒน์ ลี้สวัสดิ์ กล่าวว่า ไคโตซาน(chitosan)เป็นชื่อเรียกอนุพันธ์ของไคติน(chitin) โดยไคตินเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพ (biopolymer) ที่ได้จากธรรมชาติพบในโครงสร้างส่วนเปลือกของสัตว์จำพวก กุ้ง ปู ปลาหมึกและเปลือกของแมลงและยังพบได้ในเห็ด ราบางชนิด การผลิตไคตินเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมทะเล โดยนำส่วนที่จะนำไปทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่ เนื่องจากไคโตซานเป็นพอลิเมอร์ที่มีประจุบวกทำให้ไคโตซานมีคุณสมบัติในการจับกับไขมันและดูดซับน้ำมันได้ดี จึงช่วยลดความเหนอะหนะบนใบหน้าและลดความมันได้ผล ที่สำคัญคือ ไคโตซานเข้ากับเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตได้ สามารถสลายตัวได้ในสิ่งมีชีวิตและมีความเฉื่อยทางชีวภาพ จึงไม่ทำให้แพ้หรือเกิดการระคายเคือง สามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัยแม้ในคนที่มีผิวแพ้ง่ายและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเตรียมแผ่นซับหน้ามันจากไคโตซานทั้งแบบฟิล์ม แบบกระดาษและพัฒนาแผ่นซับหน้ามันจากไคโตซานให้มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับใช้ดูดซับความมันบนใบหน้า โดยแผ่นซับหน้ามันเตรียมจากสารละลายไคโตซานผสมกับพลาสติกไซเซอร์ สารดูดซับและเยื่อปอสา จากนั้นจึงนำสารผสมมาเทลงบนแม่พิมพ์ อบแห้งที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และนำแผ่นซับหน้ามันที่ได้ไปทดสอบสมบัติความเรียบเนียน ความนุ่ม ยืดหยุ่น ความหนาและการดูดซับน้ำมัน
ผศ.ดร.ภูริวัฒน์ กล่าวว่า แผ่นซับหน้ามันจากไคโตซานทั้งแบบฟิล์มและแบบกระดาษนี้ จะใช้สารละลายไคโตซานเข้มข้น 1% โดยน้ำหนักต่อปริมาตร จากการทดลองพบว่าความสามารถในการดูดซับน้ำมันของแผ่นซับหน้ามันขึ้นอยู่กับชนิดของสารดูดซับ ด้านผลของการเติมพลาสติกไซเซอร์ที่มีต่อแผ่นซับหน้ามันแบบฟิล์มพบว่า การเติมสาร PEG6000 ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ได้ฟิล์มที่แข็ง ไม่นุ่ม ขณะที่การเติมสาร sorbitol จะทำให้ฟิล์มมีความอ่อนนุ่ม แต่ถ้าเติมในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ฟิล์มไม่คงรูปและผิวของฟิล์มมันเหนอะหนะ ดังนั้นการเตรียมแผ่นซับหน้ามันแบบฟิล์มจึงควรเลือกใช้สารทั้งสองชนิดข้างต้นในปริมาณที่เหมาะสมเป็นพลาสติกไซเซอร์ เพื่อทำให้ฟิล์มมีความอ่อนนุ่มและคงรูปร่างที่ดี
ด้านผลการเตรียมแผ่นซับหน้ามันแบบกระดาษจากการเติมเยื่อปอสาพบว่า การเตรียมเยื่อปอสาในปริมาณ 0.5 กรัมและ 1.0 กรัมต่อสารละลายไคโตซาน 50.0 กรัม จะทำให้ได้แผ่นซับหน้ามันที่สามารถดูดซับน้ำมันได้มากแต่ค่อนข้างแข็งขาดความยืดหยุ่นและไม่เรียบเนียนน่าใช้มากกว่า แต่เมื่อนำสารดูดซับทั้งสองชนิดมาผสมกัน (talcum และ colloidal silicon dioxide) จะทำให้กระดาษดูดซับน้ำมันได้น้อยลง โดยปริมาณของสารดูดซับที่ใช้ต้องมีความเหมาะสม สามารถดูดซับได้มากกว่าแบบฟิล์ม อีกทั้งยังมีความเรียบเนียนและนุ่มมากกว่า สรุปส่วนผสมสำหรับแผ่นซับหน้ามันจากไคโตซานคร่าวๆจะประกอบด้วย สารละลายไคโตซาน 50.0 กรัม เยื่อปอสา 1.0 กรัม สาร Sorbitol 1.0 กรัมและ Colloidal silicon dioxide จำนวน 0.1 กรัม ซึ่งจะได้แผ่นซับหน้ามันที่ดูดน้ำมันได้ 60.16 % โดยน้ำหนัก
หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวอีกว่า แผ่นซับหน้ามันไคโตซานและเยื่อปอสานี้ยังมีประสิทธิภาพในการดูดซับความมันเทียบเท่ากับแผ่นซับหน้ามันในท้องตลาด และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนการผลิตต่ำ โดยส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือการผลิตที่หาได้ง่าย จำนวนน้อยชิ้นและไม่ซับซ้อนยุ่งยาก อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ ผลิตได้ภายในประเทศ จึงช่วยลดการนำเข้าสารเคมี และวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากสามารถย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งขณะนี้กำลังมีการขอจดสิทธิบัตรในโครงการดังกล่าว และความสำเร็จครั้งนี้ยังต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ