ฟิทช์ ประเทศไทย ปรับลดอันดับเครดิตของบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง เป็น ‘BBB+(tha)’

ข่าวทั่วไป Thursday March 16, 2006 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันภายใต้ Medium-Term Note Programmes และตั๋วแลกเงินค้ำประกันที่ออกโดยบริษัทไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (ไพรมัส) เป็น ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ จากเดิม ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) ไพรมัสเป็นบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์เครดิต (“ฟอร์ด เครดิต”) แห่งสหรัฐอเมริกา โดยฟอร์ด เครดิตยังเป็นผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ของไพรมัส การปรับอันดับเครดิตในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตสากล (Issuer Default Rating (“IDR”)) ของหนี้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของฟอร์ด เครดิต และ บริษัทแม่คือ บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ (“ฟอร์ด”) เป็น ‘BB’ จาก ‘BB+’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตของฟอร์ด และฟอร์ดเครดิต ยังคงเป็นลบ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของไพรมัสอีกในอนาคต
อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันที่ออกโดยไพรมัสมีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเต็มจำนวนจาก ฟอร์ด เครดิต และความน่าเชื่อถือของฟอร์ด และฟอร์ด เครดิต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไพรมัส บริษัททั้งสองนี้ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา การปรับอันดับเครดิตในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับลดอันดับเครดิตของฟอร์ดและฟอร์ด เครดิต เพื่อที่จะคงระดับความแตกต่างของอันดับเครดิตสากลระหว่างผู้ค้ำประกันของไพรมัสและอันดับเครดิตของประเทศไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวที่ ‘A’ ฟิทช์ กล่าวว่า ความแตกต่างที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตระหว่างอันดับเครดิตของฟอร์ดหรือฟอร์ด เครดิต และประเทศไทยจะยังคงส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันของไพรมัส
การปรับลดอันดับเครดิตของและแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของฟอร์ด สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของฟิทช์เกี่ยวกับแรงกดดันที่มากจากฐานผู้จัดหาวัตถุดิบ ซึ่งแรงกดดันดังกล่าวจะจำกัดความสามารถของฟอร์ดในการลดต้นทุนในด้านดังกล่าว ความเป็นไปได้เกี่ยวกับการจัดการพนักงาน การจัดหาวัตถุดิบ การเพิ่มราคา การสนับสนุนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น และต้นทุนที่เกี่ยวกับวิธีการจัดซื้อวัตถุดิบแบบ re-sourcing และ double-sourcing ปัจจัยข้างต้นได้ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนทางตรงที่อาจเพิ่มขึ้นจากฐานผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับฟอร์ด เมื่อพิจารณาประกอบกับปัจจัยอื่นที่สร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไร ซึ่งรวมถึงต้นทุนที่คงค้างจากในอดีต การแข่งขันในด้านราคา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และปัจจัยอื่นๆ ปัจจัยดังกล่าวน่าจะท้าทายความสามารถของฟอร์ดในการรักษาเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในภาวะที่ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทลดลง สภาวะการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่องและกระแสเงินสดที่เป็นลบ (ซึ่งได้รวมค่าธรรมเนียมในการปรับโครงสร้าง) คาดว่าจะยังคงอยู่ตลอดปี 2549 ซึ่งเป็นเหตุทำให้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ เมื่อพิจารณาถึงกำหนดการปิดโรงงานผลิตหลายแห่งในช่วงหลายปีข้างหน้า ฟอร์ดจะต้องพยายามยับยั้งการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสัดส่วน 1.1% ในทวีปอเมริกาเหนือ) โดยการคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ประสบความสำเร็จหรือเผชิญหน้ากับการลดต้นทุนต่อไปอย่างต่อเนื่อง
อันดับเครดิตของฟอร์ด เครดิต มีความเกี่ยวข้องกับอันดับเครดิตของฟอร์ด เนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดกันของทั้งสองบริษัท ฟิทช์คาดว่าผลกำไรและเงินปันผลของฟอร์ด เครดิตน่าจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2549 เนื่องมาจากยอดสินเชื่อรวมและอัตรากำไรที่ลดลง ฟอร์ด เครดิตได้ประโยชน์จากการที่ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญลดลง เมื่อคุณภาพสินทรัพย์ได้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าคุณภาพสินทรัพย์จะปรับตัวดีขึ้นในอัตราที่ลดลงในอนาคต ฟิทช์เชื่อว่าฟอร์ด เครดิตจะสามารถรักษาสภาพคล่องในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของบริษัท ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนข้อสังเกตดังกล่าวคือความสามารถของฟอร์ด เครดิตที่จะขายหรือแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์สำหรับสินทรัพย์ที่มีหลายประเภทของบริษัท เช่น สินเชื่อลูกค้ารายย่อย สินทรัพย์ให้เช่า หรือสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ นอกจากนี้ ฟอร์ด เครดิตยังคงถือเงินสดในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการที่สินทรัพย์ของบริษัทครบกำหนดชำระเร็วกว่าหนี้สินของบริษัท
ตามวิธีการจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกันและของประเทศไทยอาจจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยผู้ค้ำประกันนั้น เนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศเป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเปรียบเทียบภายในประเทศเดียวกัน และในกรณีของประเทศไทยอันดับเครดิตภายในประเทศของประเทศอยู่ที่ ‘AAA(tha)’ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลของประเทศและของผู้ค้ำประกันจึงส่งผลให้มีการทบทวนการจัดอันดับเครดิตเปรียบเทียบภายในประเทศ นอกจากนี้นักลงทุนควรทราบว่าการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลหนึ่งอันดับอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตภายในประเทศมากกว่าหนึ่งอันดับได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ