กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุน (กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ในหลายเรื่อง เพื่อให้หลักเกณฑ์มีความยืดหยุ่น ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาของภาคธุรกิจ สามารถรองรับนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขหลักเกณฑ์จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2553
สาระสำคัญของหลักเกณฑ์ที่จะปรับปรุงมีดังนี้
1. ประเภทหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้ จะกำหนดให้มีลักษณะเป็น principle-based มากขึ้น โดยกำหนดด้วยลักษณะของหลักทรัพย์และทรัพย์สิน เช่น มีสภาพคล่องสอดคล้องกับการไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุน มีข้อมูลหลักทรัพย์และราคาที่สะท้อนมูลค่ายุติธรรมอย่างเหมาะสมและน่าเชื่อถือ
2. การลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศ หากเป็นหน่วยลงทุนที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและเสนอขายตามหลักเกณฑ์ของ Undertakings for Collective Investment in Transferable Securities (UCITS) ซึ่งกำหนดโดย European Economic Committee (EEC) ให้ถือว่ามีการให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนดแล้ว
3. อัตราส่วนการลงทุน ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้การลงทุนมีการกระจายการลงทุนมากขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยยกเลิกเกณฑ์การอนุญาตกองทุนที่ลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (specific fund) และกรณีกองทุนทั่วไปกำหนดให้ลงทุนในตราสารของผู้ออกรายใดรายหนึ่ง company limit ได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) โดยอาจขยายการลงทุนในผู้ออกรายใดรายหนึ่งเพิ่มได้แต่ต้องไม่เกิน 20% ของ NAV และเมื่อนับรวมกรณีที่มีการลงทุนเกิน 10% ของ NAV เข้าด้วยกันแล้ว ต้องไม่เกิน 60% ของ NAV
4. การจัดประเภทกองทุนจะต้องเป็นไปตามฐานะความเสี่ยงที่กองทุนมี (risk exposure) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี แทนการกำหนดตามมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนได้ดียิ่งขึ้น
5. การจัดตั้งกองทุนรวมหน่วยลงทุน (fund of funds: FOFs) จะกำหนดให้ต้องมีฐานะความเสี่ยงในหน่วยลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% จากเดิมไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) โดยแบ่งกองทุน FOFs เป็น 2 ประเภท คือ กองทุนหน่วยลงทุนแบบกระจายตัว (diversified FOFs) และกองทุนหน่วยลงทุนแบบไม่กระจายตัว (non-diversified FOFs) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ลงทุน
6. ในการพิจารณาว่าทรัพย์สินที่กองทุนที่ไปลงทุนเป็นทรัพย์สินต่างประเทศหรือไม่ จะพิจารณาจาก risk exposure ของการลงทุน เช่น ทรัพย์สินที่ไปลงทุนมีความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้านผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญาหรือความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่งในต่างประเทศ ให้ถือว่าเป็นการลงทุนในต่างประเทศ
7. กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบถี่จะต้องมีการบริหารจัดการความสี่ยงที่รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และความคาดหวังของผู้ลงทุน เช่น กำหนดคุณภาพของตราสาร กำหนดอัตราส่วนให้มีการกระจายตัว กำหนดข้อจำกัดในการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงและในทรัพย์สินต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งจะกำหนดให้การลงทุนในต่างประเทศต้องป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนตลอดระยะเวลาลงทุนด้วย
ในการนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต.(www.sec.or.th) จึงขอเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าว หรือทางโทรสารหมายเลข 0-2695-9914 หรือทาง e-mail ที่ surasak@sec.or.th หรือ rosana@sec.or.th ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2553