กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ปตท.สผ.
นายมารุต มฤคทัต (Maroot Mrigadat) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. สรุปผลงานและประเด็นสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2549 และแผนการดำเนินงานในอนาคต ดังนี้
ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2549 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 3,910 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 3 นี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,910 ล้านบาทหรือร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 19,986 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสนี้สูงขึ้นเป็น 38.25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 31.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้รวมสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการขายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 168,830 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 160,678 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากยอดขายน้ำมันดิบของโครงการ B8/32 & 9A ยอดขายก๊าซธรรมชาติของโครงการบงกชและยาดานา และยอดขายคอนเดนเสทของโครงการไพลิน
สำหรับไตรมาสนี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสนี้ รวม 6,813 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 2.08 บาท ลดลง 370 ล้านบาท หรือร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 7,183 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 2.20 บาท มีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on shareholders’ equity) สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 33.29
ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 11,358 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 7,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,887 ล้านบาท หรือร้อยละ 52 ส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายการตัดจำหน่ายหลุมแห้งของโครงการพม่า M7 & M9, เวียดนาม 16-1, L22/43 และ G4/43 รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงาน Seismic ของโครงการเวียดนาม 16-1, เวียดนาม B&48/95, อัลจีเรีย 433a & 416b และอินโดนีเซียเมรางิน-1 รวมทั้งค่าเสื่อมราคาของโครงการอื่น ๆ
ปตท.สผ. ค้นพบปริมาณสำรองก๊าซฯ เพิ่มเติม จากการเจาะหลุมสำรวจในโครงการบงกช
เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้ทำการเจาะหลุมสำรวจต้นจัน-1X ซึ่งเป็นการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการบงกชในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ผลการเจาะสำรวจหลุมต้นจัน-1X พบก๊าซธรรมชาติในชั้นหินกักเก็บซึ่งมีความหนารวมประมาณ 143 เมตร การค้นพบก๊าซฯ ในปริมาณสูงครั้งนี้ จะทำให้โครงการบงกชสามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซฯ ภายในประเทศได้มากขึ้นและยาวนานขึ้น สำหรับในปี 2549 นี้ ปตท.สผ.มีแผนจะทำการเจาะหลุมสำรวจในโครงการบงกชอีก 1 หลุม
ปัจจุบัน โครงการบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการและถือสัดส่วนการร่วมทุน 44.4445% นั้น สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในอัตรา 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทในอัตรา 19,259 บาร์เรลต่อวัน
เร่งการสำรวจและผลิตในโครงการปัจจุบัน พร้อมกับมองหาโอกาสลงทุนในประเทศใหม่ ๆ
ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการทดสอบการผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสทจากแหล่งชามส์ (Shams) ในโครงการโอมาน 44 โดยจะเริ่มผลิตก๊าซฯ และคอนเดนเสทอย่างเป็นทางการได้ในอัตราประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทในอัตราประมาณ 3,400 บาร์เรลต่อวันในเดือนพฤศจิกายนนี้ การส่งก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทในครั้งนี้ จะเป็นการส่งก๊าซฯ ครั้งแรกของ ปตท.สผ. ให้กับประเทศในตะวันออกกลาง
สำหรับอีกหนึ่งโครงการซึ่งใกล้จะเริ่มการผลิต คือ โครงการภูฮ่อม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ จ.อุดรธานี และ จ.ขอนแก่น ซึ่ง ปตท.สผ.มีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 นั้น ได้เสร็จสิ้นการวางท่อก๊าซฯ แล้ว และคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตและส่งก๊าซฯ ให้กับ ปตท. ในอัตรา 79 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้
จากผลการเจาะสำรวจล่าสุดในแปลง M9 ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพพม่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้ทำการค้นพบที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการค้นพบน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่ง ปตท.สผ. เชื่อว่าแปลง M9 เป็นแปลงที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูง และจะยังคงจะดำเนินการตามแผนงานเดิม โดยจะทำการสำรวจเพิ่มเติมในแถบโครงสร้าง Zatila เพื่อค้นหาแหล่งน้ำมันที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ นอกจากนั้น จะทำการขุดเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเติมในโครงสร้าง Zawtika ซึ่งพบก๊าซธรรมชาติแล้ว เพื่อกำหนดศักยภาพและแนวทางในการพัฒนาปิโตรเลียมของแปลง M9 ต่อไป
นอกจากโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบันจำนวน 30 โครงการใน 9 ประเทศแล้ว ปตท.สผ. ได้มองหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและขยายฐานการลงทุนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านปิโตรเลียมกับบริษัท Petrobangla ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศบังคลาเทศ เพื่อหาโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศบังคลาเทศ ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ โดยจะร่วมกันศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมในอ่าวเบงกอลเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ ยังมองหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงเช่นในทวีปอเมริกาใต้ และในภูมิภาคออสตราเลเชีย (Australasia) ด้วย
ปตท.สผ. 1 ใน 9 บริษัทการกำกับดูแลกิจการดีเลิศ
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศผลการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2549 ซึ่ง ปตท.สผ. ได้คะแนนอยู่ในระดับ ดีเลิศ คือได้คะแนนในช่วง 90 — 100 คะแนน โดยเป็น 1 ใน 9 บริษัทที่ได้คะแนนในระดับนี้จากการสำรวจบริษัท จดทะเบียนทั้งสิ้น 402 บริษัท (บริษัทอีก 8 แห่ง คือ BANPU, BBL, BCP, KBANK, KTB, PTT, RATCH และ SCB)
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาได้อิงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีระดับสากลของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) และของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 หมวดหลัก ได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น (Rights of Shareholders) การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น (Equitable Treatment of Shareholders) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย (Role of Stakeholders) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and Transparency) และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (Board Responsibilities)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สิทธิไชย ไชยันต์/ ต้องจิตร พงศ์อรพินท์
โทร. 02 537 4592, 02 537 4587