กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศึกษาประสิทธิภาพการใช้งาน “เครื่องพ่นละอองยาอุลตราโซนิก” ในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ระบุเป็นเครื่องมือแพทย์จากฝีมือนักวิจัยไทย ประสิทธิภาพสูง หวังช่วยชาติลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากความสำเร็จของฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. ในการพัฒนาเครื่องพ่นละอองยาอุลตราโซนิก (Ultrasonic Nebulizer) อย่างครบวงจร ซึ่ง วว.ได้ทำการศึกษาและทดสอบคุณภาพของเครื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพในผู้ป่วย วว.จึงได้ร่วมกับ กองโสต ศอ นาสิกกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ดำเนินโครงการศึกษาการใช้เครื่องพ่นละอองยาอุลตราโซนิกในคนไข้โพรงจมูกและไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการใช้ยา โดยมี นายแพทย์ประสิทธิ์ มหากิจ เป็นหัวหน้าโครงการรับทดสอบประสิทธิผลการใช้เครื่องฯ ในผู้ป่วย
“...วว.รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในการศึกษาประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องพ่นละอองยาอุลตราโซนิกในผู้ป่วย ซึ่ง วว.ได้มอบเครื่องพ่นละอองยาฯ จำนวน 15 เครื่อง โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานในการมอบ ... วว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวจะได้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในสถานพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ..” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เครื่องพ่นละอองยา อุลตราโซนิก (Ultrasonic Nebulizer) เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ วว.ได้ต่อยอดจากความสำเร็จจากการพัฒนาหัวเพียโซ อิเล็กทริกเซรามิก ที่มีประสิทธิภาพในการให้กำเนิดคลื่นอุลตราโซนิก และนำมาประยุกต์ใช้งานสู่การวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเครื่องพ่นละอองยาอุลตราโซนิก มีหลักการทำงาน คือ เมื่อหัวเพียโซอิเล็กทริกซึ่งเป็นสารทรานสดิวเซอร์ ได้รับกระแสไฟฟ้าจะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกลในรูปของคลื่นอุลตราโซนิกความถี่ประมาณ 2 MHz. ซึ่งเป็นคลื่นเหนือเสียง ส่งผ่านน้ำและภาชนะบรรจุยาซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความบางมาก ผ่านไปยังตัวยาซึ่งเป็นของเหลว โดยความถี่ดังกล่าวจะทำให้โมเลกุลของยาเกิดการสั่นสะเทือนและเคลื่อนที่ด้วยความเร่งมากกว่าแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้อนุภาคของยาหลุดออกจากผิวหน้า เกิดเป็นละอองยาขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ลอยไปในอากาศได้ ซึ่งละอองยาขนาดเล็กนี้จะสามารถซึมผ่านเข้าไปถึงปอดส่วนบนของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้บำบัดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจหรือโรคหืดได้เป็นอย่างดี
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net