ประกาศผลการประกวดเรื่องเล่า "บทเรียนความสำเร็จการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้"

ข่าวทั่วไป Tuesday January 12, 2010 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล องค์ความรู้มีความสำคัญฉันใด การใช้สติ และปัญญานำการดำเนินชีวิตมีความสำคัญยิ่งกว่า ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งปลูกฝังการดำเนินชีวิตตามหลักของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้กับเยาวชน จึงเป็นภูมิคุ้มกันให้กับพวกเขาได้เติบใหญ่อย่างมั่นคง สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมดุล มีความสุข และนำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ล่าสุด ได้มีการตัดสินการประกวดเรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า “บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการจัดการการเรียนรู้” ขึ้น โดยมีเรื่องเล่า 14 เรื่องจากทั้งหมด 210 เรื่องได้รับการตัดสินเป็นแบบปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อการขยายผลสู่สถานศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศ คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เท้าความถึงที่มาของการประกวดครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของมูลนิธิสยามกัมมาจล และโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น 2 ภาคีเครือข่ายของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา 40,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี พ.ศ.2554 เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีสำนึกของความพอเพียง ทั้งนี้ การประกวดเรื่องเล่าถือเป็นกลไกหนึ่งในการจุดประกายและสร้างความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูได้ใคร่ครวญ ถอดบทเรียนประสบการณ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของตนเอง ที่สำคัญยังเป็นการเฟ้นหาตัวอย่างความสำเร็จของผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และครู ที่ประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการ และออกแบบการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรมให้ผู้สนใจได้นำไปปรับใช้ตามบริบทและภูมิสังคมของตน ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้คัดเลือกผลงานเรื่องเล่ารอบแรกจำนวน 38 ผลงาน และเชิญเจ้าของเรื่องเล่าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแรงบันดาลใจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา โดยมีคณะวิทยากรโรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ก่อนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดจะคัดสรรเรื่องเล่าดีเด่นร่วมกันก่อนเสนอให้คณะกรรมการตัดสินและให้คำแนะนำเป็นขั้นสุดท้าย สำหรับเรื่องเล่าทั้ง 14 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกเป็นแบบปฏิบัติที่ดี แบ่งเป็นผลงานของผู้บริหารโรงเรียนจำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ นางกัญพิมา เชื่อมชิต โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี ภราดาประภาส ศรีเจริญ โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี นายพูนเกียรติ ศรีปัญญา โรงเรียนบ้านสามัคคี จ.อำนาจเจริญ นายธีระวัธน์ สิงหบุตร โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม จ.ระยอง นายสมนึก จันทร์แดง โรงเรียนบ้านหนองบัวแดง จ.เชียงราย และนายแสน แหวนวงศ์ โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์ ด้านผลงานของคณะครูที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 1 ชิ้น ได้แก่ นางจุติพร สุขสิงห์ และคณะครูระดับปฐมวัย โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี สำหรับ ผลงานของครูที่ผ่านการคัดเลือกอีก 7 ผลงาน ประกอบด้วย นางกุณฑีรา บุญเลี้ยง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนราชวินิต มัธยม กรุงเทพฯ นางวาริน รอดบำเรอ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม และนางสารภี สายหอม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม จ.สุรินทร์ ส่วนผลงานกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ประกอบด้วยนางสวลี มีสวัสดิ์ โรงเรียนวชิรธรรมสถิต จ.พัทลุง และนายอันเร ไชยเผือก โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี ขณะที่ผลงานอีก 2 ชิ้นที่ได้รับการคัดเลือกเป็นของกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ประกอบด้วยนายวิรัช กิมทรง โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จ.ระยอง และนายคเณศ เทพสุวรรณ โรงเรียนเทศบาลจามเทวี จ.ลำพูน ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประธานคณะกรรมการตัดสินให้เหตุผลของการคัดเลือกเรื่องเล่าพอเพียงทั้ง 14 ชิ้นว่า จากการพิจารณาผลงาน พบว่า ผลงานเรื่องเล่าเศรษฐกิจพอเพียงของผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และครูทั้ง 38 เรื่องที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความแตกฉานในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของเจ้าของผลงาน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและเศรษฐกิจพอเพียงเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นผลงานที่มีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน นอกจากนั้น จากการติดตามผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาแต่ละแห่งยังพบอีกว่าทุกท่านล้วนเป็นผู้มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาอย่างน่าชื่นชมจนยากจะตัดสินว่าผลงานใดมีความโดดเด่นกว่าผลงานอื่นๆ อย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้แบบปฏิบัติที่ดีที่มีความหลากหลายเป็นตัวอย่างแก่สถานศึกษาอื่นๆ ซึ่งมีบริบทแตกต่างกันได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจึงตัดสินเลือก 14 ผลงานข้างต้นเพื่อการขยายผลและเผยแพร่ โดยเฉพาะกลุ่มของผู้บริหารโรงเรียนแบบปฏิบัติที่ดีทั้ง 6 ท่าน ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทต่างๆ กันได้อย่างเด่นชัด เช่นกันกับผลงานของคณะครูและครูท่านอื่นๆ ซึ่งได้คัดเลือกอีก 8 ผลงานเพื่อเป็นตัวแทนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาที่มีความหลากหลายทั้งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตลอดจนด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วน ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และกรรมการตัดสิน กล่าวว่า จากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดเรื่องเล่าครั้งนี้ทำให้พลอยได้เรียนรู้อีกระดับว่าบนผืนแผ่นดินไทยของเรายังมีผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูที่ดีอยู่อีกมากในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นแรงค้ำจุนให้ประเทศไทยดำรงอยู่ได้ ดังเช่นที่ ศ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวว่า ครูคือคำตอบของประเทศเพราะครูเป็นผู้สร้างคน โดยการยึดวิชาเป็นเนื้อเรื่องและใช้กระบวนการเป็นวิธีการซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทที่แวดล้อม ซึ่งการเข้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ สิ่งที่คุณครูทุกท่านได้ทำคือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมายึดถือปฏิบัติ แทรกซึมอยู่ในเนื้อในตัวและสามารถก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในภาวการณ์ที่คนไทยกำลังตั้งคำถามและหาคำตอบร่วมกันว่า เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรและจะน้อมนำมาทำตามได้อย่างไรบ้าง ขณะที่ประโยชน์ประการหนึ่งของเวทีการประกวดครั้งนี้ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้ครูพอเพียงได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ที่ฝังลึกด้านเศรษฐกิจพอเพียง เกิดเป็นการต่อยอดทางความคิดระหว่างกันและกันด้วย “ในวันนี้เราได้ best in class สิ่งที่เราต้องการมากคือต่อไป ท่านต้องเป็น best ของประเทศ เพื่อเป็นครูของโรงเรียนอื่นทั่วประเทศได้เรียนรู้จากท่าน ไม่ใช่ว่าเมื่อท่านได้รางวัลแล้วจบ การได้รางวัลต้องรักษาคุณลักษณะให้คงที่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศเราต้องการมากคือ best of the best ที่เป็น world class เป็น world best เพราะหลักปรัชญาฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น world best ที่นานาชาติยกย่อง เราที่เป็นพสกนิกรต้องถามตัวเองว่าเอาหลักนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันไหม และในวันนี้เราได้ตัวอย่างมาจากท่านทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติแล้ว” ผศ.ดร.เลขากล่าว ขณะที่ นายพูนเกียรติ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสามัคคี จ.อำนาจเจริญ หนึ่งในผู้บริหารที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแบบปฏิบัติที่ดีของความพอเพียงจากการปรับเปลี่ยนตนเองจากผู้บริหารโรงเรียนที่ติดอบายมุข ชาวบ้านดูถูก ไม่ให้การยอมรับ มาเป็นผู้นำทางความคิดที่ดึงชาวชุมชนรอบโรงเรียนได้เห็นคุณค่าของการปลูกฝังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงในตัวลูกหลานและขยายผลสู่การมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการพัฒนาตนเอง เกิดระบบการพึ่งพาอาศัยกัน และส่งเสริมการลดละเลิกอบายมุขในชุมชน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นแบบอย่าง “ผมจะถือการได้รับคัดเลือกครั้งนี้ให้เป็นเหมือนขวัญกำลังใจให้แก่ตนเองรวมถึงผู้ตั้งใจทำความดีคนอื่นๆ ได้เป็นที่ยกย่อง สังคมรับรู้ และยอมรับ เหมือนกับการปิดทองหลังพระ ที่เมื่อปิดมากเข้า ทองย่อมล้นมาด้านหน้าองค์พระ ทำให้สังคมเห็นว่ายังมีผู้ทำความดีในสังคมอีกมาก และให้การหนุนเสริมคนทำดีได้ยืนหยัดทำดีต่อไป ขณะที่ผู้ประพฤติตนไม่ดีก็จะเกรงกลัว ไม่กล้าแสดงตัว หรือพลอยเห็นตัวอย่างที่ดี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมแทน” นายอันเร ไชยเผือก อาจารย์ประจำหมวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จ.จันทบุรี ซึ่งเห็นความจำเป็นของการรวบรวมเด็กกลุ่มเสี่ยง ทั้งที่ไม่เข้าเรียน ติดเกม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ และเที่ยวกลางคืน ให้มาทำกิจกรรมร่วมกันโดยจัดตั้งชุมนุม “คนเอาถ่าน” เพื่อปลูกฝังหลักคิดของความพอเพียงลงในตัวเด็กๆ จนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับการคัดเลือกเป็นแบบอย่าง เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำยังเป็นเพียงการทำงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินเพียงเล็กน้อย แต่จากการที่ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารโรงเรียน และเพื่อนครู เข้ามารับฟังและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำก็ทำให้เกิดความภาคภูมิใจอย่างมาก “ผมรู้สึกภาคภูมิใจ ภูมิใจทั้งเรื่องที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่งและคอยชี้แนะสิ่งที่ถูกที่ควรให้ปฏิบัติ และภูมิใจที่ผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจและสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาเด็กกลุ่มเสี่ยงให้เขามีโอกาสทางการศึกษา เพราะโรงเรียนจะไม่มีนโยบายไล่เด็กออก แต่จะพยายามช่วยเหลือเขาให้มากที่สุด ที่ในท้ายที่สุดทำให้เกิดความสุขใจเมื่อเห็นเด็กกลุ่มเสี่ยง 9 จาก 15 คนเรียนจนจบและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ส่วนเด็กอีก 6 คนที่ยังเหลือเรียนอยู่ก็ปรับเปลี่ยนตนเองหันมาเป็นแกนนำเพื่อนๆ ทำกิจกรรมเพื่อโรงเรียน” ส่วน นางสวลี มีสวัสดิ์ ครูแบบอย่างพอเพียงกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนวชิรธรรมสถิต จ.พัทลุง ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรกในกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาการงานอาชีพชั้น ม.1-ม.6 หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมปลูกผักชีวภาพโดยการดึงการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้รู้ในชุมชนให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นของพ่อแม่กับลูกหลานที่ปกติค่อนข้างเหินห่าง พ่อแม่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับลูกเพราะต้องออกทำงานรับจ้างหารายได้จุนเจือครอบครัว กล่าวว่า การได้รับคัดเลือกครั้งนี้จะเป็นพลังผลักดันให้มีแรงและกำลังใจเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ลูกศิษย์และขยายผลสู่ชุมชน “ที่สำคัญ โดยส่วนตัวแล้วยังไม่รู้สึกว่าการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นการประกวดแข่งขัน แต่มองว่าเป็นการที่ผู้บริหารโรงเรียนและเพื่อนครูที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้มาพบปะและเล่าเรื่องเล่าเร้าพลังเติมเต็มพลังให้กันและกัน ทั้งยังทำให้เห็นเพื่อนครูที่ทุ่มเททำความดีเพื่อในหลวงอย่างแท้จริง เป็นแบบอย่างคอยกระตุ้นให้ตัวเองมุ่งมั่นทำความดีมากขึ้นต่อไป” ครูแบบอย่างพอเพียงจาก จ.พัทลุง ปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ