กกพ. เปิดแผนปี 53 เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์พลังงาน สร้างประสิทธิภาพกิจการพลังงานในเชิงรูปธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 11:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--Triple J Communication กกพ. ชูผลงาน 2 ปี ออกใบอนุญาตแล้ว 923 ฉบับ ตรึงค่า Ft ช่วยประชาชนบรรเทาภาระค่าไฟกว่า 15,000 ล้านบาท พร้อมเปิดแผนปี 53 เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์พลังงาน มุ่งสร้างประสิทธิภาพให้เกิดเป็นรูปธรรม เร่งกำหนดมาตรฐานค่าไฟ ผลักดันพลังงานทดแทน และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน พร้อมเตรียมยกร่างระเบียบใช้จ่ายเงินกองทุนฯ มาตรฐานบริการก๊าซ และร่างกำหนดให้ VSPP รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนออกใบอนุญาต ตลอดจนเร่งสรรหา คพข. สร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานสู่ท้องถิ่น ศ.ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2553 กกพ. มีเป้าหมายที่จะเร่งเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน 5 ปี พ.ศ. 2551 — 2555 โดยจะมุ่งเน้นประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกิจการพลังงาน และอุตสาหกรรมในภาพรวม เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรกำกับดูแลชั้นเลิศ โดยการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริการด้านพลังงาน การมีเวทีแข่งขันที่ได้มาตรฐาน และมีอัตราค่าบริการที่สะท้อนถึงต้นทุนที่ชัดเจน และมีความโปร่งใส นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การวางรากฐานการกำกับกิจการพลังงานออกไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้พลังงานทั่วประเทศเกิดความเข้าใจในกิจการพลังงาน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของกกพ.ในรอบ 2 ปี ได้บรรลุตามเป้าหมายของแผนงานที่เน้นการวางรากฐานการกำกับกิจการพลังงาน และสร้างความรับรู้และเข้าใจแก่ผู้ใช้พลังงานและผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงาน ดังนี้ 1. การออกใบอนุญาต กกพ. สามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 923 ฉบับ แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า 225 ฉบับ กำลังการผลิตรวม 34,955 MW ใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม จำนวน 631 ฉบับ กำลังการผลิตรวม 14,796 MW ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 63 ฉบับ กำลังการผลิตรวม 1,088 MW และใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จำนวน 4 ฉบับ 2. การกำกับดูแลอัตราค่าบริการ กกพ. มีการตรึงค่าเอฟทีมาแล้วจำนวน 4 รอบ ตั้งแต่งวดเดือนมกราคม 2552 ถึงปัจจุบัน (มกราคม — เมษายน 2553) รวมทั้ง มีการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติที่สะท้อนภาระการลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เท่าที่จำเป็น และเพียงพอต่อการลงทุนขยายระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ 3. การจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สกพ.ได้จัดให้มีการสัมมนาชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกองทุนฯ พร้อมทั้งเตรียมยกร่างระเบียบกองทุนฯ โดยที่ผ่านมาได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นทั้งในระดับภาคจำนวน 4 ภาค 5 พื้นที่ และนำมาประมวลความคิดเห็นระดับประเทศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าระเบียบดังกล่าวจะแล้วเสร็จและสามารถอนุมัติแผนงานโครงการของชุมชนได้ในเดือนเมษายน 2553 นี้ 4. การจัดตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงงานประจำเขต (คพข.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประกอบด้วยระเบียบว่าด้วยคุณสมบัติ ประกาศกำหนดเขตพื้นที่ผู้ใช้พลังงาน และประกาศเรื่องการสรรหา คพข. โดย คพข. จะประกอบไปด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการไม่เกิน 10 คน แต่งตั้งจากผู้ใช้พลังงานในแต่ละเขตตามเขตพื้นที่ทั่วประเทศที่จะประกาศ (13 เขต) และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดย คพข.จะทำหน้าที่รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปรับปรุงการให้บริการต่อ กกพ. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน โดยจะเปิดรับสมัคร คพข. ตั้งแต่วันที่ 1 — 16 กุมภาพันธ์ 2553 5. การจัดตั้งสำนักงานประจำเขต สกพ. ได้แบ่งพื้นที่ในการจัดตั้งเป็นสำนักงานเขตของ สกพ.ทำหน้าที่ของ สกพ. ในระดับภูมิภาค เพื่อรองรับการขอรับใบอนุญาต กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ของกองทุนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ประสานการดำเนินงานกับคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน หรือผู้ประกอบกิจการพลังงาน สนับสนุนและประสานงานเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นตามพระราชบัญญัติฯ โดยแบ่งสำนักงานเขตออกเป็น 13 เขต ดังนี้ คือ เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ เขต 2 จังหวัดพิษณุโลก เขต 3 จังหวัดนครสวรรค์ เขต 4 จังหวัดขอนแก่น เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี เขต 6 จังหวัดนครราชสีมา เขต 7 จังหวัดสระบุรี เขต 8 จังหวัดชลบุรี เขต 9 จังหวัดกาญจนบุรี เขต 10 จังหวัดราชบุรี เขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต 12 จังหวัดสงขลา และเขต 13 กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การจัดตั้งสำนักงานประจำเขตดังกล่าวจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้พลังงานและผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ต้องการจะติดต่อกับ สกพ. 6. เร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเป็นการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และยกร่างประกาศการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ประกาศ Adder) และมอบหมายให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งรับไปจัดทำรายละเอียดและประกาศใช้ โดยการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกัน กกพ.อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ต้องรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ กกพ.ทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาให้ใบอนุญาต และเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะมีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดร.ดิเรก กล่าวต่อไปอีกว่า กกพ.ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานได้เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กกพ.จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระหว่างเรกูเลเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อระดมความคิดเห็น และหาแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานในสถานการณ์ที่ต้องคำนึงถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 02-207-3599

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ