สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ เดือนธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 14, 2010 07:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ตลท. ภาพรวมของภาวะตลาดหลักทรัพย์ของไทยในปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นเทียบกับปี 2551 ทั้งด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) และมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 4/2551 ในปี 2552 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันปรับสูงขึ้นจากปี 2551 และมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิ ในส่วนของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดและบัญชีซื้อขายทางอินเทอร์เนต โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายและมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีต่อเดือน สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งด้านมูลค่าการซื้อขายและจำนวนบัญชีซื้อขายโดยเฉพาะการซื้อขาย SET50 Index Futures ที่เพิ่มขึ้นมากตามภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนค่อนข้างมากตลอดทั้งปี นอกจากนี้ การซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ซึ่งเริ่มการซื้อขายในปี 2552 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมากตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ด้านการระดมทุน ในปี 2552 มีบริษัทจดทะเบียนเข้าระดมทุนในตลาดแรกทั้งหมด 17 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET 6 บริษัท และใน mai 11 บริษัท) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวน 5 กองทุน เทียบกับ 11 บริษัทและกองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวน 5 กองทุนในปี 2551 อย่างไรก็ตาม มูลค่ารวมของการระดมทุนทั้งในตลาดแรกและตลาดรองปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการเงินทุนเพื่อการลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูง สำหรับในเดือนธันวาคม 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปรับสูงขึ้นโดยได้รับผลบวกจากการปรับตัวขึ้นของราคาหลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ตาม จากช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดหลายวันทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ค่อนข้างเบาบางเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 1. ภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นปี 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 63.25 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET index) ปิดที่ 734.54 จุด ณ สิ้นปี 2552 ขณะที่มีจุดต่ำสุดอยู่ที่ 411.27 จุดในเดือนมีนาคม และจุดสูงสุดที่ 751.86 จุดในเดือนตุลาคม การปรับขึ้นของดัชนีหลักทรัพย์สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยติดลบในอัตราลดลงจาก ร้อยละ -7.1 ร้อยละ -4.9 และร้อยละ -2.8 ในช่วงไตรมาส 1/2552 ถึงไตรมาส 3/2552 ตามลำดับ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 4/2551 เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นรองจากอินโดนีเซีย ไต้หวัน และสิงคโปร์ แต่สูงกว่าฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai index) ปิดที่ 215.30 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.14 จากสิ้นปี 2551 ด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมของ SET และ mai ณ สิ้นปี 2552 มีมูลค่า 5,912,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.67 จากสิ้นปี 2551 ตามการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ ณ เวลาปัจจุบันและกำไรสุทธิต่อหุ้นคาดการณ์ (Forward P/E ratio) ของไทยปรับสูงขึ้นจากสิ้นปี 2551 ที่ 7.0 เท่าเป็น 12.7 เท่า ขณะที่อัตราส่วนระหว่างค่า Forward P/E ratio ของไทยเทียบกับ Forward P/E ratio ของหุ้นในกลุ่ม MSCI ในภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น (MSCI Asia Ex. Japan) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 64.2 ในช่วงสิ้นปี 2551 มาเป็นร้อยละ 89.9 ณ สิ้นปี 2552 ในเดือนธันวาคม 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 6.60 เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ตามการปรับสูงขึ้นของราคาหลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai index) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 ทั้งนี้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมของ SET และ mai เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.57 ขณะที่อัตราส่วนระหว่าง Forward P/E ratio ของไทยต่อ Forward P/E ratio ของหุ้นในกลุ่ม MSCI ในภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น (MSCI Asia Ex. Japan) ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ของไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค 2. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในปี 2552 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปีนับจากปี 2548 โดยในปี 2552 การซื้อขายหลักทรัพย์ของ SET และ mai มีมูลค่ารวม 4,428,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.25 จากปี 2551 และมีมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวัน 18,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.08 จากปี 2551 เมื่อพิจารณาการซื้อขายหลักทรัพย์ (รวม SET และ mai) แยกตามประเภทนักลงทุน ในปี 2552 บทบาทของนักลงทุนทั่วไปในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์สูงถึงร้อยละ 61 ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดและเป็นผู้ขายสุทธิ 37,027 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายลดลง เป็นร้อยละ 19.4 จากร้อยละ 29.1 ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องถึง 8 เดือนในช่วงมีนาคม—ตุลาคม 2552 โดยในปี 2552 นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิกว่า 38,013 ล้านบาท เทียบกับสถานะผู้ขายสุทธิ 162,357 ล้านบาทในปี 2551 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2552 บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (Proprietary Trading) มีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายสูงขึ้นเป็นร้อยละ 12.9 จากร้อยละ 9.8 ในปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2552 ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์รวม โดยในปี 2552 บริษัทหลักทรัพย์มีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องจากปี 2551 โดยซื้อสุทธิ 1,486 ล้านบาท ด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2552 พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของกลุ่มอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับสัดส่วนในปี 2551 โดยกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 36 ร้อยละ 21 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์มีสัดส่วนการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 จากร้อยละ 4 ในปี 2551 และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีสัดส่วนการซื้อขายลดลงเป็นร้อยละ 6 จากร้อยละ 8 ในปี 2551 ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนการซื้อขายแยกตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอันดับ 31-50 ที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 11 จากร้อยละ 7 ในปี 2551 ในเดือนธันวาคม 2552 บรรยากาศการซื้อขายหลักทรัพย์ค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลต่อเนื่องช่วงปลายเดือน โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวม 312,692 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.44 จากเดือนก่อนหน้า และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET และ mai เท่ากับ 15,634 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.51 จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายรวม SET และ mai ในเดือนธันวาคม 2552 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.25 เมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายในเดือนธันวาคม 2551 ด้านสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2552 พบว่าสัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่การซื้อขายในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ปรับตัวลดลง โดยสัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37 จากร้อยละ 34 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3 ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีสัดส่วนค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายแยกตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) พบว่าสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรกลดลงเล็กน้อย เป็นร้อยละ 42 จากร้อยละ 44 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอันดับ 11-30 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 จากร้อยละ 23 ในเดือนก่อนหน้า 3. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในแต่ละเดือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความสนใจของนักลงทุนที่มากขึ้นตามการฟื้นตัวของดัชนีหลักทรัพย์ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2552 มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 127,976 บัญชี เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 41 จากเดือนมกราคม 2552 ที่มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนเท่ากับ 90,943 บัญชี ทั้งนี้อัตราส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขายต่อเดือน (Active Rate) เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 17 ในเดือนมกราคม 2552 เป็นร้อยละ 23 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 สำหรับจำนวนบัญชีและมูลค่าซื้อขายทางอินเทอร์เนตในปี 2552 ถึงเดือนพฤศจิกายน พบว่า ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการส่งเสริมการซื้อขายหลักทรัพย์ทางอินเทอร์เนตของบริษัทหลักทรัพย์ โดยจำนวนบัญชีอินเทอร์เนตที่มีการซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน 2552 เท่ากับ 47,689 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากบัญชีอินเทอร์เนตที่มีการซื้อขายในเดือนมกราคม 2552 จำนวน 29,099 บัญชี ทั้งนี้ สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เนตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 21 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 ในปี 2551 4. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ ในปี 2552 ภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณการซื้อขายรวม 3.075 ล้านสัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากปี 2551 และเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่านับจากปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate: CAGR) เท่ากับร้อยละ 149 ในปี 2552 การซื้อขายส่วนใหญ่เป็นการซื้อขาย SET50 Index Futures ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงขึ้นตามภาวะตลาดที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก อีกทั้งในปี 2552 ตลาดอนุพันธ์ได้มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากตามการปรับขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสินค้าใหม่โดยเพิ่มหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Assets) ของสัญญาล่วงหน้าที่อ้างอิงกับหุ้นสามัญรายตัว Single Stock Futures ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน และมีส่วนช่วยให้ปริมาณการซื้อขายสูงขึ้น ในเดือนธันวาคม 2552 มีการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ 297,026 สัญญา ลดลงร้อยละ 15.1 จากเดือนพฤศจิกายน 2552 ส่วนหนึ่งจากการมีวันหยุดทำการหลายวันในเดือนธันวาคม และเมื่อพิจารณาปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวัน พบว่า สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) มีปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยรายวันสูงสุด (New High) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ด้วยปริมาณการซื้อขาย 3,861 สัญญา จากความสนใจของนักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก 5. ภาพรวมด้านการระดมทุน สำหรับการระดมทุนในรูปตราสารทุนในปี 2552 พบว่า มีมูลค่า 35,131 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 31.3 โดยปรับลดลงทั้งในส่วนของการระดมทุนในตลาดแรกและตลาดรอง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการเงินทุนเพื่อการลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาวะตลาดหลักทรัพย์นับแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2552 ทำให้มีบริษัทจดทะเบียนเข้าระดมทุนในตลาดแรก (IPO) มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี สะท้อนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและภาวะตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2552 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนจำนวน 17 บริษัท และมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เข้าระดมทุนในตลาดแรกจำนวน 5 กองทุน คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 11,608 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 ที่บริษัทเข้าจดทะเบียนจำนวน 11 บริษัทและมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 5 กองทุน คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 24,405 ล้านบาท สำหรับการระดมทุนในตลาดรองของทั้ง SET และ mai มีมูลค่ารวม 23,524 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีมูลค่า 7,806 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่า 6,783 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2552 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 2,145 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรก (IPO) มูลค่า 88 ล้านบาท จากการเข้าจดทะเบียนจำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THANA) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จำนวน 1 กอง ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจิสติคส์ (TLOGIS) คิดเป็นมูลค่ารวม 1,553 ล้านบาท ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรอง 504 ล้านบาท หัวข้อพิเศษ 1. สรุปจำนวนบริษัทจดทะเบียนและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าใหม่ปี 2552 ปี 2552 มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่รวม 17 แห่ง แบ่งเป็นการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ (SET) จำนวน 6 บริษัทและการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 11 บริษัท โดยมียอดการระดมทุนผ่านการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อยู่ที่ 6,169 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าตลาดรวม (market Capitalization) 30,265 ล้านบาท (คำนวณ ณ ราคา IPO) ในขณะที่จำนวนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนในปีนี้มี 5 กองทุน มีมูลค่าระดมทุนรวม 5,439 ล้านบาท 2. สรุปการเคลื่อนไหวราคาหุ้นและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 SET51-100 และ Non-SET100 (โดยไม่รวมหลักทรัพย์ที่เข้าใหม่หรือเพิกถอนในปี 2552 และหลักทรัพย์ในกลุ่ม NPG) จากการเปรียบเทียบราคาปิดของหุ้น ณ สิ้นปี 2552 กับสิ้นปี 2551 พบว่ามีหุ้นมากถึง 404 หลักทรัพย์ หรือร้อยละ 81 ของหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ (SET และ mai) มีราคาเพิ่มขึ้น โดยหุ้นกลุ่ม SET51-100 มีราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย (Average Increase In Price) ที่ ร้อยละ 109 ในขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มดังกล่าวมีราคาลดลงโดยเฉลี่ย (Average Decrease In Price) ที่ร้อยละ 14 สำหรับกลุ่ม SET50 และกลุ่ม Non-SET100 มีราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย (Average Increase In Price) ร้อยละ 91 และร้อยละ 74 ตามลำดับ ส่วนค่าเฉลี่ยของราคาที่ลดลง (Average Decrease In Price) อยู่ที่ร้อยละ 18 และ ร้อยละ 21 ตามลำดับ 3. การสนับสนุนและการจัดกิจกรรมที่สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับบริษัทจดทะเบียน ในปี 2552 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยได้ดำเนินงานในหลายแนวทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนและแนะนำบริษัทจดทะเบียนให้กลุ่มนักลงทุนที่สนใจ ผ่านการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมและสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและต่อผู้ถือหุ้นในที่สุด ตัวอย่างกิจกรรมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินงานในปี 2552 ได้แก่ การถ่ายทอดสดกิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Live Opportunity Day) ซึ่งนักลงทุนสามารถชมกิจกรรมดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.set.or.th อีกทั้งยังสามารถส่งคำถามที่สงสัยถึงผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนได้โดยตรง นับเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลบริษัท และเพิ่มความสะดวกในการรับชมให้กับผู้ลงทุน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเนื้อหาและประชาสัมพันธ์บริษัทจดทะเบียนผ่านสื่อต่าง ๆ การส่งเสริมโครงการสะสมหุ้นสำหรับพนักงานบริษัทจดทะเบียน (EJIP) เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร.0-2229-2035 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229-2048 วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ