กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กทม.
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่บริเวณแยกคลองตันแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์การปิดซ่อมสะพานข้ามแยกคลองตัน และสะพานข้ามคลองแสนแสบ ระยะเวลารวม 180 วัน โดยมี พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายพิชัย พิชญเดชะ ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชาสัมพันธ์ พร้อมให้คำแนะนำประชาชนในการหลีกเลี่ยงเส้นทางเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด
ปิดฝั่งขาออกเมืองจากเพชรบุรีตัดใหม่มุ่งหน้าพัฒนาการก่อน
กรุงเทพมหานครกำหนดซ่อมสะพานข้ามแยกคลองตัน โดยปิดการจราจรฝั่งขาออกเมืองเส้นทางจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่มุ่งหน้าถนนพัฒนาการก่อน ตั้งแต่เวลา 0.01 น. ของวันที่ 16 ม.ค. 53 (หลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 ม.ค. 53) จนถึงวันที่ 1 มี.ค. 53 (45 วัน) ส่วนด้านขาเข้าเมืองยังคงใช้การบริการได้ตามปกติ จากนั้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 1 มี.ค. 53 น. (เวลา 0.01 น. ของวันที่ 2 มี.ค. 2553) จะสลับฝั่งการให้บริการ เปลี่ยนไปปิดการจราจรฝั่งเข้าเมืองจนถึงเที่ยงคืนวันที่ 15 เม.ย. 53 จากนั้นในวันที่ 16 เม.ย. 53 จะทำการปิดสะพานข้ามคลองแสนแสบในฝั่งขาออก อีก 45 วัน และสลับฝั่งไปปิดสะพานข้ามคลองแสนแสบฝั่งขาเข้าอีก 45 วัน จนถึงวันที่ 14 ก.ค. 53 ทั้งนี้เบื้องต้นกำหนดปิดสะพานฝั่งละ 45 วัน แต่เนื่องจากสะพานข้ามคลองตันมีระยะทางค่อนข้างยาว อีกทั้งสะพานสองฝั่งมีความยาวไม่เท่ากัน ระยะเวลาอาจยืดหยุ่นได้แต่ไม่เกินฝั่งละ 60 วัน โดยระยะเวลาในการซ่อมสะพานทั้ง 2 แห่ง ใช้เวลารวม 180 วัน สำหรับงานที่ทำการปรับปรุง ประกอบด้วย การปรับปรุงผิวจราจรบนสะพาน การปรับปรุงรอยต่อเผื่อขยาย วัสดุกันซึมรอยต่อแผ่นพื้น คสล. แผ่นยางรองสะพาน การปรับปรุงราวสะพาน การซ่อมแซมพื้นโครงสร้างเชิงลาด Bridge Approach งานปรับปรุงผิวจราจรเชิงลาดสะพานช่วง Transition การปรับปรุงช่องรับน้ำบนสะพาน และงานระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
เส้นทางเลี่ยงการจราจรขาเข้า-ออกเมือง
ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางโดย ขาเข้าเมือง จาก ถ.พัฒนาการ ให้เลี้ยวขวาเข้า ซ.พัฒนาการ 25 เลี้ยวซ้ายเข้าสามแยก ถ.รามคำแหง 24 มุ่งสู่ ถ.รามคำแหงได้ หรือ จาก ถ.พัฒนาการ เลี้ยวขวาเข้า ซ.พัฒนาการ 25 เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวซ้ายเข้า ซ.ศูนย์วิจัย ออกสู่ ถ.เพชรบุรี มุ่งหน้าเอกมัยและแยกพร้อมพงษ์ได้ หรือจากแยกศูนย์วิจัยตรงไปสู่แยกอโศกมนตรีและแยก อ.ส.ม.ท. ได้ หรือจาก ถ.พัฒนาการ เลี้ยวขวาเข้า ซ.พัฒนาการ 25 เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม แล้วเลี้ยวขวาสู่ ถ.เพชรบุรี
สำหรับขาออกเมือง จาก ถ.เพชรบุรี ให้เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม มุ่งหน้าสู่ ถ.พระราม 9 ได้ หรือ จาก ถ.เพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม เลี้ยวขวาเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวซ้ายออก ถ.รามคำแหง หรือ จาก ถ.เพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เพชรพระราม เลี้ยวขวาเข้า ถ.กำแพงเพชร 7 เลี้ยวขวาออก ซ.พัฒนาการ 25 แล้วเลี้ยวซ้ายสู่ ถ.พัฒนาการขาออกได้
สะพานคลองตันเปิดใช้งานร่วม 18 ปี
สะพานคลองตันถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2535 ตั้งอยู่ในแนวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ — พัฒนาการ ตัดกับถนนสุขุมวิท 71 (ถ.ปรีดีพนมยงค์) — รามคำแหง จัดเป็นสะพานยุคแรกที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับสะพานบางกะปิ สะพานรัชโยธิน สะพานท่าพระ สะพานควาย (ถูกรื้อแล้ว) สะพานบางพลัด สะพานสามเหลี่ยมดินแดง สะพานจตุจักร สะพานลาดพร้าว(ถูกรื้อแล้ว) สะพานลำสาลี และสะพานอรุณอัมรินทร์ (ถูกรื้อแล้ว) สะพานคลองตันทั้ง 2 ทิศทางมีความยาวไม่เท่ากัน ด้านทิศทางเข้าเมือง (จากถนนพัฒนาการมุ่งหน้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่) ยาวประมาณ 1,040 ม. ส่วนฝั่งขาออกเมือง (จากถนนเพชรบุรีตัดใหม่มุ่งหน้าถนนพัฒนาการ) ยาวประมาณ 1,220 ม. นอกจากนี้ยังมีสะพานข้ามคลองแสนแสบอีก 2 สะพานด้านข้าง ความยาวประมาณ 200 ม.
17.00-20.00 น. ปรับช่องทางฝั่งขาเข้าเป็นขาออกเมืองทั้ง 2 ช่อง
นายพรเทพ กล่าวว่า เนื่องจากสะพานข้ามแยกคลองตันเปิดใช้งานมานานเกือบ 20 ปี ทำให้สะพานชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยของประชาชน กรุงเทพมหานครจึงต้องปิดซ่อมสะพานข้ามแยกคลองตัน และสะพานข้ามคลองแสนแสบ ซึ่งอาจส่งผลกระบทด้านการจราจรของประชาชนที่ใช้เส้นทาง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนได้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าว หรือปรับเวลาออกจากบ้านให้เร็วขึ้นกว่าปกติเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งปัจจุบันจำนวนรถที่ใช้เส้นทางผ่านแยกคลองตันมีประมาณ 100,000 คัน/วัน ชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าประมาณ 11,000 คัน ช่วงเย็นประมาณ 14,000 คัน โดยในช่วงที่มีการปิดซ่อมสะพานแต่ละฝั่ง จะมีการเปิดให้ใช้เส้นทางฝั่งตรงข้ามตามปกติ โดยชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเย็น เวลา 17.00—20.00 น. จะปรับเส้นทางฝั่งเข้าเมืองให้เป็นเส้นทางสำหรับรถออกจากเมืองทั้ง 2 ช่องทาง อีกทั้งกรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจจราจรในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว รวมถึงแนะนำเส้นทางเลี่ยงการจราจรบริเวณดังกล่าวแก่ประชาชนด้วย
ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นทางหลีกเลี่ยง เส้นทางลัด และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ที่ www.bangkok.go.th www.traffice.com และ http://bkkbridge.homeip.net สอบถามรายละเอียดพร้อมแจ้งปัญหาอุปสรรคการเดินทางและผลกระทบการจราจรได้ที่สายด่วน กทม.1555 และ 1197