กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานวัฒนธรรม รุ่นที่8 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ นิทรรศการศิลปะที่อัมพวา "การเดินทางของหิ่งห้อย" A Journey of Fire-flies" ในวันที่ 23-31 มกราคม 2553 เวลา 10-00-21.00 น. ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ จ. สมุทรสงคราม
ร่วมย้อนรอยการเดินทางของอัมพวา ตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน และตามหาอนาคต ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัย โดยศิลปินสาขาทัศนศิลป์ 4 ท่าน คือ
คะณึงณิจ ประทุม
เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ
ชล เจนประภาพันธ์
ชุมพล อักพันธานนท์
พิธีเปิดจะจัดขึ้นในวันที่ 23 มค.53 เวลา 15.00 น.
ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด
แนวคิดของการจัดนิทรรศการ "การเดินทางของหิ่งห้อย"
ชุมชนอัมพวา เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นทางด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม วิถีชีวิตริมน้ำ ความเป็นชาวสวน และมรดกภูมิปัญญาต่างๆที่สืบทอดต่อกันมา ในปัจจุบันพื้นที่ชุมชนอัมพวากำลังเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผนวกกับกระแส การท่องเที่ยวแบบโหยหาอดีตที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้อัมพวากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ กระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนริมน้ำนี้ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้วิถีชีวิตหลายๆอย่างของชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนแปลงไปมากมายเช่นกัน ทางผู้จัดจึงอยากนำเสนอ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนอัมพวา ผ่านนิทรรศการ"การเดินทางของหิ่งห้อย" โดยเปรียบเปรยอัมพวากับ หิ่งห้อย สัญลักษณ์ที่ใครๆก็นึกถึงเมื่อมาเยือนอัมพวา เพื่อเล่าถึงเรื่องราวการเดินทางของอัมพวาจากอดีต มาจนถึงปัจจุบัน และร่วมกันตามหาอนาคตที่เรา อยากจะให้เป็น โดยสื่อสารผ่านผลงานศิลปะ เพื่อเปิดกว้างในการตีความ โดยศิลปินสาขาทัศนศิลป์ 4 ท่าน ที่มีความสนใจในเรื่องของชุมชน อันได้แก่ คะณึงณิจ ประทุม,เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอ
เหาะ, ชล เจนประภาพันธ์ และชุมพล อักพันธานนท์
ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นในสังคม เรามิได้ต้องการแช่แข็งอดีตหรือฝืนต้านความเปลี่ยนแปลง แต่เรากำลังหาทางที่จะจัดการให้คุณค่าต่างๆที่มีอยู่ของชุมชนสามารถดำรงอยู่ไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลง การกระตุ้นเตือนให้คนในชุมชน และนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่อัมพวาเกิดความรู้สึก รักและหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของตน และนำมาซึ่งการดูแลรักษา และนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้อย่างเหมาะสม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026291682 สาขาการบริหารงานวัฒนธรรม