กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--adpc
ชี้ประเทศไทยยังเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและน้ำท่วม ดร.พิจิตต ระบุตัวเลขการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเผยหากเขื่อน 2 แห่งจังหวัดกาญจนบุรีแตกจากแผ่นดินไหวเพราะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เมืองกาญฯจมน้ำใน 5 ชั่วโมงสูงถึง 25 เมตร ส่วนกรุงเทพน้ำจะท่วมสูง 2 เมตรภายใน 35 ชั่วโมงมิหนำซ้ำถ้าเจอน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดียวกันน้ำอาจสูงเท่าตึก 2 ชั้น เดินหน้าแผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ ปี 2553 — 2562 ตามที่ครม.อนุมัติ
ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการองค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย(adpc) กล่าวถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรง แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ว่าเรื่องนี้เป็นอุธาหรณ์สำคัญสำหรับประเทศไทยในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาแผ่นดินไหว จากการหารือกับหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องล่าสุดมีการแสดงความเป็นห่วงเรื่องปัญหาแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง เพราะจังหวัดกาญจนบุรีเป็นที่ตั้งของเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่บนแนวแขนงรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ที่แยกจากแนวรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า หากเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงแล้วทำให้เขื่อนศรีนครินทร์แตก จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง
ผอ.องค์กรศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กล่าวถึงผลที่จะตามมาว่าจะมีปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลลงสู่ด้านล่างภายในระยะเวลา 5 ชั่วโมงน้ำจะไปถึงตัวอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีในระดับความสูง 25 เมตร ภายใน 11 ชั่วโมง น้ำจะไปถึง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในระดับ 7.5 เมตร ภายใน 23 ชั่วโมง น้ำจะไปถึง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม ในระดับ 2 เมตร และภายใน 35 ชั่วโมง น้ำจะมาถึงกรุงเทพมหานครในระดับความสูง 2 เมตร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้คำนวณและสร้างแบบจำลองขึ้นมา เพราะฉะนั้นจังหวัดต่างๆตามเส้นทางน้ำหลากที่กล่าวมาจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการให้ความรู้กับประชาชน การวางแผนป้องกันทั้ง แผนอพยพประชาชน แผนดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะใน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หลายล้านคน มีปัญหารถติดจะต้องหาเส้นทาง
อพยพที่ไม่สวนกระแสน้ำ เพราะน้ำจะไหลมาตามถนนสายหลัก อย่างถนนเพชรเกษมแน่นอน และหากในช่วงดังกล่าวมีน้ำทะเลหนุนสูงพอดีระดับน้ำอาจจะสูงเกิน 2 เมตร หรือตึกสองชั้นก็ได้
“สำหรับประเทศไทย เราได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนระดับชาติซึ่ง ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ให้ประกาศใช้ แผนปฏิบัติการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งชาติในเชิงยุทธศาสตร์ ปี 2553 — 2562 โดยมีแผนป้องกันภัยพิบัติแผ่นดินไหวรวมอยู่ด้วย” ดร.พิจิตต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ารอยเลื่อนสำคัญที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยมีทั้งหมด 9 รอยเลื่อน คือ 1. รอยเลื่อนเชียงแสน ความยาว 130 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3 ริคเตอร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง 2.รอยเลื่อนแพร่ ความยาว 115 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริคเตอร์ ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง 3. รอยเลื่อนแม่ทา ความยาว 55 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นบ่อยครั้ง 4. รอยเลื่อนเถิน ความยาว 90 กิโลเมตรเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์เมื่อปี 2521 5. รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี ความยาว 250 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริคเตอร์เมื่อปี 2518 6. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ความยาว 500 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่น้อยกว่า 100 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2526 มีขนาดสูงถึง 5.6 ริคเตอร์ 7. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ความยาว 250 กิโลเมตร เกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อยหลายพันครั้ง 8. รอยเลื่อนระนอง ความยาว 270 กิโลเมตร เกิดแผ่นดินไหว 1 ครั้งเมื่อปี 2521 ขนาด 5.6 ริคเตอร์ 9. รอยเลื่อนคลองมะรุย เคยเกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อยที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงในปี 2476 , 2519 และ 2542 ทั้งนี้แผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนทั้งสองแห่ง เคยเกิดแผ่นดินไหวในเดือนเมษายน 2526 ถึง 3 ครั้ง สูงสุดขนาด 5.99 ริคเตอร์