กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--บีโอไอ
บีโอไอยังอุ่นใจ ต่างชาติเชื่อมั่นการลงทุนในไทย โดยปี 2552 ที่ผ่านมา ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 2551 นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงเป็นกลุ่มที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ไต้หวัน สวิส โดยจีนสนใจลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านบาท
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้เปิดเผยสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุดในรอบ 40 กว่าปี ถึง 723,400 ล้านบาท บีโอไอยังพบว่าสถิติดังกล่าว เป็นการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาทด้วย
โดยนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ในปี 2552 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 788 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 350,754 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าเงินลงทุนของการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2551 ร้อยละ 18 แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างดี
“ การที่นักลงทุนต่างชาติแสดงความมั่นใจต่อประเทศไทยด้วยการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามามากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปิดสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศเพิ่มอีก 6 แห่งและการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะ และได้พบปะเจรจาชักชวนบริษัทชั้นนำในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งเป็นผลมาจากมาตรการพิเศษกระตุ้นการลงทุน ตามนโยบายปีแห่งการลงทุน จึงทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจต่อการสนับสนุนของประเทศไทย” เลขาธิการ บีโอไอกล่าว
ทั้งนี้ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้ามาลงทุนเป็นอันดับหนึ่งเหมือนเดิม โดยมีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 266 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 77,380 ล้านบาท ซึ่งแม้จะลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 24 แต่การลงทุนจากญี่ปุ่นในไทย ก็ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี 2552 โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 45 โครงการ เงินลงทุน 23,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนจากหลายประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีโครงการขอรับส่งเสริมจำนวน 25 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 43,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท
ตามด้วย สหรัฐอเมริกา 34,631 ล้านบาท สิงคโปร์ 34,264 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์ 21,409 ล้านบาท เยอรมนี 20,289 ล้านบาท ไต้หวัน 20,267 ล้านบาท ฮ่องกง 13,817 ล้านบาท สวิตเซอร์แลนด์ 13,259 ล้านบาท เกาหลีใต้ 8,257 ล้านบาท อินเดีย 4,660 ล้านบาท และ ออสเตรเลีย 4,458 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย อันดับหนึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 229 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 120,500 ล้านบาท มีโครงการขนาดใหญ่ เช่น กิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์
รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 164 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 98,911 ล้านบาท มีกิจการขนาดใหญ่ได้แก่ ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และชิ้นส่วน และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ซึ่งมูลค่าเงินลงทุนของทั้งสองกลุ่มในปี 2552 สูงกว่ามูลค่าในปีก่อนหน้าทั้งสิ้น