กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะทรงเจริญพระชนมายุ 55 พรรษาในวันที่ 2 เมษายน 2553 มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ.ฯ ซึ่งได้รับพระมหากรุณารับไว้ในพระราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาได้จัดโครงการพิเศษสนองพระราชดำริด้านการอ่านเขียน ภายใต้ชื่อโครงการ “จากใจถวายพระเทพฯ” โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมจินตนาการและปลูกฝังให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์
โครงการ “จากใจถวายพระเทพฯ” เป็นการแข่งขันวาดภาพและแต่งข้อเขียนโดยไม่จำกัดกรอบความคิด ของเด็กระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2552 โดยมูลนิธิฯ นำเด็กในความดูแลกว่า 30,000 คนทั่วประเทศมาแข่งขันกันในระดับจังหวัดและภาค จากนั้นมูลนิธิฯ ได้นำผู้ชนะระดับภาคจำนวน 300 คน มาเพิ่มพูนทักษะและเปิดโลกทัศน์ในการวาดและการเขียนในค่าย “จากใจถวายพระเทพฯ” เพื่อคัดเลือก 55 ผลงานยอดเยี่ยม เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายองค์อุปถัมภ์ ค่ายนี้จัดขึ้นที่ แสนปาล์ม เทรนนิ่งโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
จินตนาการบริสุทธิ์ผ่านมุมมองของเด็ก ซี.ซี.เอฟ
“เด็กๆ ทุกคนมีจินตนาการที่กว้างไกล แต่ผู้ใหญ่มักตีกรอบหรือครอบงำความคิดของเด็ก ทำให้จินตนาการของเด็กถูกทำลายไป...” ดร กรรณชฎา พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเด็กของมูลนิธิที่เน้นการให้เสรีภาพทางความคิดแก่เด็ก และคำนึงถึงความถนัดและความสามารถตามวัยของเด็ก ในการประกวดวาดภาพและข้อเขียนจึงกำหนดหัวข้อที่หลากหลายเพื่อให้เด็กมีอิสระที่จะเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจจริงๆ อาทิความฝันของฉัน ครอบครัวในฝัน ครูในฝัน ท้องถิ่นของเรา คนดีของฉัน ประชาธิปไตยในฝัน เมืองไทยในอนาคต และโลกสีเขียว
ความประทับใจของกูรูงานศิลป์และวรรณกรรม
เพื่อมอบ “โอกาสในการเรียนรู้” ให้แก่เด็กจากครอบครัวยากไร้ในชนบทไกลๆ ที่มักเข้าไม่ถึงครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มูลนิธิฯ จึงได้เชิญศิลปินระดับชาติมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ ในค่าย
อาจารย์สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร กล่าวถึงเด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มนี้ว่า “หากดูที่คุณภาพของภาพวาดแล้ว นับว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ แม้ว่าจะเป็นเด็กด้อยความรู้ในห้องเรียนแต่ก็สามารถจุดประกายความคิดและถ่ายทอดจินตนาการได้ดี”
ส่วนอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เผยความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับเด็กๆ ที่เลือกเรียนรู้ด้านการเขียนว่า “ประทับใจที่เด็กซี.ซี.เอฟ.แตกต่างจากเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่เคยสอนมา คือ พวกเขาไม่ยึดติดกับวัตถุสิ่งมอมเมาต่าง แม้ว่าจะเป็นเด็กจากครอบครัวที่ขาดแคลน เมื่อให้เด็กแต่ละคนพูดถึงคำที่ตนเองสนใจ แทนที่เด็กๆ จะพูดว่าอยากร่ำรวยหรืออยากได้รถยนต์ แต่เด็กซี.ซี.เอฟ. กลับพูดถึง ความหวัง ความริเริ่ม การให้ นี่สะท้อนว่าพวกเขาถูกหล่อหลอมมาดี จึงมองตัวเองและสิ่งแวดล้อมโดยไม่ยึดติดกับวัตถุ” อาจารย์ชมัยภรเชื่อว่า เด็กๆ เหล่านี้สามารถสื่อสารความรู้สึกออกมาจากภายในได้ และการพัฒนาเด็กที่ขาดโอกาสแบบนี้ควรกระตุ้นจินตนาการด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น สอนให้แต่งนิทานหรือเขียนเรื่องง่ายๆ
แง่คิดหลากมุมมองของเด็กๆ จาก 30 จังหวัด
เมื่อได้รับการกระตุ้นให้นึกถึงเรื่องราวรอบๆ ตัวด้วยแง่คิดที่เปิดกว้างไม่ครอบงำ เด็กๆ ทั้ง 300 คน ก็สามารถสะท้อนมุมมองของตนเองออกมาเป็นเรื่องแต่งและเป็นภาพวาดหลากสีสัน บางส่วนของแง่คิดจากสายตาบริสุทธิ์ของเด็กๆ เหล่านี้อาจทำให้ผู้ใหญ่ฉุกคิดอะไรได้บ้าง
ในภาวะที่บ้านเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ด.ญ.เกษราภรณ์ วัย 11 ปี จากจังหวัดพะเยา พูดถึง “เมืองไทยในอนาคต” ว่า “...คือการดูแลกันและสามัคคี รักใคร่ ปรองดองกันเหมือนพี่น้องรักกัน มีการให้อภัยกัน...”
ด.ญ.สุริยาณี อายุ 10 ปี จากจังหวัดนราธิวาส เขียนเรื่อง “ครอบครัวในฝัน” สะท้อนความหวั่นวิตกลึกๆ ว่า “ครอบครัวหนูลำบากมาก แต่ครอบครัวของหนูมีความสุข หนูสงสารพ่อแม่ที่ท่านทำงานหนักก็เพราะหนู ...ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมืองหนูด้วย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สงบ หนูกลัวผู้ก่อการร้ายมาทำลายบ้านเมืองของเรา... ”
นส.จิตติมาฆ์ อายุ 15 ปีจากจังหวัดสุรินทร์พูดถึง “ครูในฝัน” ว่า “ประเทศไทยเรามีคุณครูคนหนึ่งซึ่งเป็นคุณครูที่เด็กๆ ทุกคนรวมทั้งฉัน อยากจะศึกษาหาความรู้กับคุณครูคนนี้ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ได้ทรงสอนให้กับโรงเรียนชายแดนในครั้งนั้น เพราะคุณครูในโรงเรียนนั้นมีไม่พอ พระองค์ก็ทรงสอนเด็กๆ อย่างตั้งใจ และถ้าเป็นไปได้ ฉันก็อยากเป็นนักเรียนที่พระองค์ทรงเป็นคุณครู”
ด.ญ.พรสวรรค์ วัยเพียง 11 ปี จากจังหวัดอุดรธานีบอกว่า “ชุมชนน่าอยู่” เพราะคนรักและสามัคคีกัน มีการรักษาประเพณีดั้งเดิม และมีเศรษฐกิจพอเพียง เธอสะท้อนความในใจว่า “ฉันอยากให้ประชาธิปไตยไม่ทะเลาะวิวาทกัน และไม่ให้มีเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาต่อสู้กันอีกเลย ถ้าต่อสู้กัน ประชาชนก็จะไม่รักกันไม่สามัคคีกัน ถ้าเราสามัคคีกันก็จะไม่มีใครกล้าทำอะไรเราได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงต้องหันมาสามัคคีกัน”
ในขณะที่เด็กๆ ในเมืองซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกเช่นการพูดไทยผสมอังกฤษ หรือนิยมชมชอบการแชททางอินเตอร์เน็ตโดยใช้ภาษาและตัวสะกดแบบสมัยใหม่ เยาวชนซี.ซี.เอฟ. อย่างน.ส.นุชนาฏ จากจังหวัดนครราชสีมา ผู้รักความเป็นไทยกลับมี “ความฝัน” ที่เรียบง่ายแต่สำคัญยิ่ง เธอบอกว่า “ความใฝ่ฝันที่อยากให้เกิดขึ้นที่สุดคือ เห็นคนไทยพูดภาษาไทยได้ชัดเจน ออกเสียง “ร” “ล” “ว” ได้ชัดเจน ใช้สิ่งของที่ทำขึ้นเอง แต่งตัวแบบไทย...”
นี่เป็นเพียงเสียงเล็กๆ จากพลังเยาวชน ซี.ซี.เอฟ. ซึ่งสะท้อนปัญหาของสังคมไทย วันนี้บรรดาผู้ใหญ่อย่างเราๆ กำลังทำอะไรกันอยู่ให้กับบ้านเมืองบ้าง ความเป็นไทยและความสามัคคีกลมเกลียวกัน ยังคงอยู่หรือไม่ หรือเราจะต้องรอให้เด็กยากไร้จากต่างจังหวัดมาเรียกร้องแทนเรา