กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็ม เปิดเผยรายงานประจำปี “Next 5 in 5” ฉบับที่ 4 ซึ่งมีการคาดการณ์แนวโน้มทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั่วโลกในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าดังต่อไปนี้
- เทคโนโลยีจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในเมืองต่าง ๆ แข็งแรงยิ่งขึ้น
- อาคาร ‘อัจฉริยะ’ จะสามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้เหมือนสิ่งมีชีวิต
- รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ใช้น้ำมันและก๊าซอีกต่อไป
- ระบบอัจฉริยะจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำและช่วยประหยัดพลังงานในเมืองใหญ่
- เมืองต่างๆ จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที แม้กระทั่งก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ
ทุกวันนี้ ด้วยแนวโน้มในการย้ายถิ่นฐานของประชากรในแต่ละปีทั่วโลก มีประชากรราว 60 ล้านคน หรือกว่า 1 ล้านคนในแต่ละสัปดาห์ที่ย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ จากรายงานประจำปี “Next 5 in 5” ล่าสุด ซึ่งเป็นฉบับที่ 4 ของไอบีเอ็ม ได้ให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ (Urbanization) มีมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปี 2552 ที่ผ่านมานี้เอง มีการประเมินกันว่าประชากรส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
นอกจากนั้นแล้ว ในรายงานดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับแนวโน้มของเทคโนโลยีที่มีผลกระทบและเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาและความท้าทายที่เมืองต่าง ๆ ต้องรับมือในอนาคตอันใกล้ เช่น ปัญหาการบริหารจัดการเมืองเพื่อรับมือกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น หรือการจัดการกับปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมลง เป็นต้น
ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลในหลาย ๆ เมืองทั่วโลกในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในเมืองเหล่านั้น ‘ฉลาดขึ้น’ หรือมีประสิทธิภาพในการทำงานดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองนั้น ๆ นั่นเอง
ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ ไอบีเอ็มคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่สำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้
? เทคโนโลยีจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในเมืองต่าง ๆ แข็งแรงยิ่งขึ้น
ด้วยประชากรจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ มีผลทำให้เมืองเหล่านี้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดโรคระบาดขึ้นเมื่อใด ที่ใด อย่างไร และมีพื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบหลังจากเกิดโรคระบาดนั้น ๆ ขึ้น นอกจากนั้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ หรือโรงพยาบาล สถานศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถปรับปรุงการตรวจสอบ ติดตาม หรือเพิ่มมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือ และป้องกันโรคติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น ไวรัส H1N1 หรือโรคระบาดอื่น ๆ เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็น “อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ” เกิดขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ นำไปถูกใช้งานร่วมกันอย่างปลอดภัย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด และเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ หลายแห่งทั่วโลก เช่น โครงการริเริ่มด้านสุขภาพและความปลอดภัยของโลก (Global Health and Security Initiative) ของ Nuclear Threat Initiative (NTI) และกลุ่มความร่วมมือแห่งตะวันออกกลางเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ (Middle East Consortium on Infectious Disease Surveillance - MECIDS) โดยไอบีเอ็มช่วยพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นมาตรฐานเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและการวิเคราะห์การระบาดของโรคติดต่อ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนในอนาคต
? อาคาร ‘อัจฉริยะ’ จะสามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้เหมือนสิ่งมีชีวิต
ในอนาคตอันใกล้ ด้วยแนวโน้มที่ผู้คนจะเข้าไปอาศัยและทำงานตามอาคารต่าง ๆ ในเมืองใหญ่มากขึ้น ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะก็จะช่วยทำให้ระบบต่าง ๆ ในตึกและอาคารสมัยใหม่ ‘ฉลาดขึ้น’ ไปพร้อม ๆ กัน โดยเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาให้ทำหน้าที่จัดการดูแลอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้ทำงานได้ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้อย่างฉับไว เช่น อาคารสมัยใหม่ในอนาคต จะมีอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์หลายพันตัวที่ติดตั้งตามจุดต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวและอุณหภูมิ ไปจนถึงความชื้น การเข้าใช้พื้นที่ แสงสว่าง เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว ในอาคารหลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันมักประกอบไปด้วยระบบต่างๆ ที่ถูกบริหารจัดการแบบแยกส่วนและไม่ทำงานเชื่อมโยงประสานกัน เช่น ระบบปรับอากาศ ประปา ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ฯลฯ เป็นต้น ในอนาคต ระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เพื่อทำให้การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบอัจฉริยะต่าง ๆ จะมีบทบาทมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยหรือใช้บริการในอาคารนั้น ๆ ช่วยอาคารประหยัดการใช้ทรัพยากร หรือช่วยลดปัญหาโลกร้อน เช่น ช่วยตรวจสอบระดับการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในแบบเรียลไทม์ หรือในกรณีที่มีปัญหาอุปกรณ์บางชิ้นอาจไม่ทำงานหรือชำรุดเสียหาย ระบบอัจฉริยะนี้จะช่วยจัดการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนที่อุปกรณ์นั้นจะหยุดทำงาน เป็นต้น
ที่ผ่านมา มีอาคารหลายแห่งในปัจจุบัน ที่ติดตั้งระบบอัจฉริยะเพื่อช่วยบริหารจัดการระบบงานหลายประเภทแล้ว เช่น ช่วยลดการใช้พลังงาน ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หรือเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้พื้นที่ภายในอาคาร ตัวอย่างเช่น โรงแรมไชน่า หังโจว ดราก้อน (China Hangzhou Dragon Hotel) ในประเทศจีน ที่เปิดโอกาสให้ไอบีเอ็มช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการโรงแรมที่ทำให้อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ สามารถทำงานเชื่อมโยงถึงกันได้แบบอัจฉริยะ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงของโรงแรมสู่การเป็น“โรงแรมอัจฉริยะ” เป็นต้น
? รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ใช้น้ำมันและก๊าซอีกต่อไป
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ตัวอักษร “E” บนมาตรวัดน้ำมันในรถยนต์ จะหมายถึง “Enough” หรือ “เพียงพอ” เพราะในอนาคตอันใกล้ รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซ อีกต่อไป นั่นหมายถึง ในอนาคต รถยนต์จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ชนิดใหม่ซึ่งรองรับการใช้งานได้นานหลายวันหรือหลายเดือนก่อนที่จะมีการชาร์จไฟอีกครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ใช้งานรถคันนั้นบ่อยแค่ไหน ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มและองค์กรพันธมิตรหลายแห่ง ได้ร่วมมือกันพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลถึง 300 ถึง 500 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่วิ่งได้เพียง 50 ถึง 100 ไมล์ นอกจากนี้ โครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ตามเมืองใหญ่หลายแห่งจะเปิดโอกาสให้รถยนต์สามารถชาร์จไฟในที่สาธารณะได้ อีกทั้งช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Energy) เช่น พลังงานลม เป็นต้น เพื่อช่วยชาร์จแบตเตอรี่ โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหินอีกต่อไป ด้วยวิธีการเหล่านี้เอง จะช่วยให้เมืองต่าง ๆ หลายแห่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศควบคู่ไปกับการช่วยลดมลภาวะทางเสียงไปในเวลาเดียวกัน
หนึ่งในตัวอย่างของพันธมิตรที่ร่วมมือกับไอบีเอ็มในโครงการดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มความร่วมมือด้านการวิจัย ‘เอดิสัน’ ของประเทศเดนมาร์ก (EDISON Research Consortium) ซึ่งทำงานร่วมกับไอบีเอ็มในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เพื่อรองรับการใช้รถไฟฟ้าจำนวนมากที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน (sustainable energy)
? ระบบอัจฉริยะจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำและการประหยัดพลังงานในเมืองใหญ่
ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำถือเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของโลก เนื่องจาก ทุกวันนี้ ประชากร 1 ใน 5 ของโลกไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยได้ ในขณะเดียวกัน หน่วยงานของรัฐฯ ในหลาย ๆ เมืองทั่วโลกมีปัญหาการสูญเสียน้ำอย่างไม่จำเป็น โดยราว 50 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการใช้อุปกรณ์จัดเก็บน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานหรือชำรุด ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์กันว่าความต้องการน้ำของมนุษย์จะเพิ่มขึ้น 6 เท่าในอีก 50 ปีข้างหน้าซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่โลกต้องรับมือในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมกับปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันเมืองต่างๆ ได้มีการติดตั้งระบบประปา ‘อัจฉริยะ’ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ที่ผ่านมาในหลาย ๆ เมืองทั่วโลก ได้มีการใช้ระบบท่อระบายน้ำ ‘อัจฉริยะ’ ที่นอกจากจะช่วยป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองแล้ว ยังช่วยกรองน้ำให้สะอาดจนสามารถดื่มได้อีกด้วย เทคโนโลยี ‘อัจฉริยะ’ สำหรับการกรองน้ำดังกล่าวนี้ช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ภายในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งน้ำลงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตอันใกล้จะมีความพยายามผนวกรวมเครื่องตรวจวัดแบบ ‘อัจฉริยะ’ หรือมิเตอร์แบบอินเทอร์แอคทีฟและเซนเซอร์เข้ากับระบบประปาและไฟฟ้า ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลอย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการใช้น้ำและไฟฟ้าของผู้ใช้ตามบ้าน เพื่อทำให้ผู้ใช้เองสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำและไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือเวลา
? เมืองต่างๆ จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ
ในอนาคตอันใกล้ เมืองต่าง ๆ จะมีความสามารถในการลดและป้องกันเหตุฉุกเฉิน เช่น อาชญากรรมและภัยพิบัติ ได้ดีกว่าในปัจจุบันด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและระบบอัจฉริยะ
ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมมือกับหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างฉับไว เพื่อให้การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการป้องปรามอาชญากรรมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุด ไอบีเอ็มได้ร่วมงานกับหน่วยดับเพลิงแห่งนครนิวยอร์ก (Fire Department of the City of New York) ที่ได้ให้ความไว้วางใจไอบีเอ็มในการพัฒนาระบบที่ทันสมัย เพื่อช่วยเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้น และช่วยคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไปในเวลาเดียวกัน
เผยแพร่โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์ : 02 273 4117 อีเมล์: werakit@th.ibm.com