การศึกษาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ข่าวทั่วไป Friday January 15, 2010 11:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทีดีอาร์ไอเผย “รวย-จน” สัมพันธ์กับระดับการศึกษา วิจัยพบ การกระจายประโยชน์จากการลงทุนด้านการศึกษาของรัฐยังเหลื่อมล้ำ อุดหนุนอุดมศึกษามากกว่าการศึกษาพื้นฐาน เอื้อคนรวยมากกว่าคนจน แนะหากเชื่อว่าการศึกษาเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ก็ควรพัฒนาระบบการศึกษาให้เด็กส่วนใหญ่ได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลการศึกษาการกระจายผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาครัฐด้านการศึกษา โดยระบุว่า การศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดรายได้ของคน และรัฐสามารถใช้การขยายโอกาสด้านการศึกษาเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในระยะยาว ในปัจจุบันการใช้จ่ายของภาครัฐด้านการศึกษาในแต่ละปีใช้งบประมาณจำนวนมาก (มากกว่างบด้านสาธารณสุขถึง 2 เท่า) และที่ผ่านมารัฐก็ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับคนไทยมากขึ้นจากโครงการเรียนฟรีถึงมัธยมปลาย แต่ก็มีคำถามว่าการใช้จ่ายของรัฐด้านการศึกษากระจายไปยังกลุ่มคนฐานะต่าง ๆ อย่างไร และคนจนได้ประโยชน์มากกว่าคนรวยจริงหรือไม่ การศึกษานี้ประมาณการการกระจายผลประโยชน์จากการใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐไปยังกลุ่มคนแต่ละชั้นรายได้ โดยนำตัวเลขจำนวนนักเรียนนักศึกษาในระดับต่างๆ ในชั้นรายได้นั้นมาคูณด้วยต้นทุนการอุดหนุนต่อหัวที่รัฐบาลจ่ายในการศึกษาระดับต่าง ๆ ให้แก่สถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งการศึกษาพบว่า การกระจายค่าหัวไปยังโรงเรียนต่าง ๆ แม้ดูเหมือนว่าค่าหัวจะเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ แต่ค่าหัวดังกล่าวไม่ได้รวมเงินเดือนและงบลงทุน ซึ่งในทางปฏิบัติโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดใหญ่มักจะได้งบเหล่านี้มากกว่าโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในที่ห่างไกล นอกจากนี้ การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้รับการอุดหนุนจากงบของรัฐในอัตราที่สูงกว่าการศึกษาพื้นฐานมาก ในขณะที่มีนักเรียน นักศึกษาเรียนต่ออุดมศึกษาประมาณร้อยละ 25 งานวิจัยทำการหาต้นทุนเฉลี่ยในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยรัฐ (ไม่รวมเงินกองทุนกู้ยืมต่างๆ) โดยหาต้นทุนเฉลี่ยเป็นรายภาค ทั้งกรณีที่รวมมหาวิทยาลัยเปิด (ม.รามฯและม.สุโขทัยฯ) และกรณีไม่รวมมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งทั้งสองวิธีให้ผลคล้ายกันคือ ในภาพรวมนั้น รัฐให้เงินอุดหนุนแก่มหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก และเมื่อดูกลุ่มคนที่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยซึ่งสัมพันธ์กับรายได้พบว่า กลุ่มคนที่รวยหรือมีฐานะดีก็จะส่งลูกเรียนต่ออุดมศึกษาและได้ประโยชน์จากการที่รัฐอุดหนุน ขณะที่การเรียนต่อในระดับ ปวช. ปวส.จะเป็นในกลุ่มที่มีฐานะระดับกลางลงมา การที่รัฐทุ่มเทเงินอุดหนุนด้านการศึกษาจำนวนมากไปในระดับอุดมศึกษาจึงเอื้อประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคนจน ดร.วิโรจน์ สรุปผลการศึกษาว่า คนกลุ่มที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐอย่างชัดเจน และถึงแม้ว่าระดับความเหลื่อมล้ำในกรณีนี้ไม่ได้สูงมาก แต่ก็เป็นความเหลื่อมล้ำที่มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ดังนั้นถ้าการศึกษาเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดรายได้ การใช้จ่ายของรัฐในด้านการศึกษาที่เอื้อกับคนรวยมากกว่าคนจนมาโดยตลอด ก็จะส่งผลให้การกระจายรายได้ของประเทศเลวลงต่อไปในระยะยาว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ