สถาบันอาหาร ปรับใหญ่รับทศวรรษใหม่ ชูสโลแกน MOVE the Thai Food Industry to the World ดันไทยเป็นครัวของโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday May 17, 2006 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สถาบันอาหารครบรอบ 10 ปี ปรับใหญ่รับทศวรรษใหม่ ชูสโลแกน MOVE the Thai Food Industry to the World ผลักดันองค์กรให้ทันสมัย หลังได้รับการรับรอง ISO 9001 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เผยวิสัยทัศน์ใหม่ “เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน” เร่งจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ หนุนผู้ประกอบการทุกระดับ หวังเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากรด้าน อุตสาหกรรมอาหาร เดินหน้าให้คำปรึกษาแนะนำระบบคุณภาพการผลิต Food Safety อย่าง ต่อเนื่อง พร้อมให้บริการงานวิชาการ งานวิจัย และงานบริการทดสอบอย่างมืออาชีพ ล่าสุดเปิดบริการใหม่ Lab Delivery เตรียมอวดโฉมพร้อมร้านอาหารไทยต้นแบบ 3 ร้าน จากโครงการครัวไทยสู่โลก ในงาน THAIFEX World of food ASIA 2006 17 — 21 พฤษภาคม นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายปณิธาน วัชรานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยผลการดำเนินงานของสถาบันอาหารในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาว่า สถาบันอาหารได้ดำเนินนโยบายตามแนวทางที่มุ่งเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสู่มาตรฐานสากล โดยการยกระดับมาตรฐานการผลิต การพัฒนากระบวนการผลิตอาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน การให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารด้านจุลชีววิทยา เคมี และกายภาพ ตลอดจนการนำเสนอมาตรการ นโยบายต่อรัฐบาลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และให้บริการงานด้านวิชาการ งานวิจัย งานบริการทดสอบในห้องปฏิบัติการ และงานข้อมูลสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับในปีนี้ สถาบันอาหารมุ่งปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่ให้มีความทันสมัย ด้วยสโลแกน MOVE the Thai Food Industry to the World เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ ที่เป็นสถาบันหลักพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยคำว่า MOVE มาจากคำว่า Modern Organization , One database for all access, Viable Facilitator และ Excellent Expertise ซึ่งหมายรวมถึง การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ให้ทันสมัย คล่องตัวมากขึ้น หลังจากได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะหรือ Food Intelligence Center เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ การตัดสินใจ การเตือนภัย การคาดการณ์และติดตามสถานการณ์
นอกจากนี้ยังจะเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอาหาร ร่วมชี้นำการปรับตัวของอุตสาหกรรมอาหารไทย ทั้งนี้ภายใต้การดำเนินงานของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจ การวิเคราะห์ การทดสอบ และการรับรองคุณภาพ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ”
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงโครงการและแผนงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานของสถาบันอาหารในทศวรรษใหม่นี้ว่า สถาบันอาหารจะมุ่งมั่นนำพาอุตสาหกรรมอาหารไทยทุกระดับสู่มาตรฐานสากล โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่ได้ขยายไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และระดับรากหญ้า เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในทุกระดับให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ นอกจากภารกิจเดิมที่ปฏิบัติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การนำระบบ GMP หรือระบบการจัดการด้านสุขอนามัยที่ดี มาประยุกต์ใช้ใน Catering หรือ GMP Mass Catering เช่น ครัวโรงเรียน ครัวโรงพยาบาล ครัวโรงแรม และครัวในกลุ่ม Food Kiosk ต่างๆ
การสร้างบุคลากรสู่การเป็นนักธุรกิจอาหารให้มากขึ้น มีการเพิ่มหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับด้านการตลาด ด้านการจัดการ มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานอาหาร และเกษตรในต่างประเทศ เช่น สถาบันอาหารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความร่วมมือ โดยสนับสนุนให้สถาบันอาหารส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษา และฝึกการทำงาน ณ NFRI ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้สร้างเครือข่ายกับ NFRI แห่งประเทศ เกาหลี และอีกหลายประเทศ
การวินิจฉัยธุรกิจอาหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพ SME เพื่อเป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้ธุรกิจได้รับทราบสภาพปัญหาที่แท้จริงของตนเอง และการเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจเพื่อจัดทำแผนธุรกิจครบวงจร (Business Model)เพื่อเป็นคู่มือการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารสามารถนำข้อมูลไปประกอบการขยายการลงทุนแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การตลาด การบริหารจัดการ การเงิน เป็นต้น โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ยังมีโครงการและกิจกรรมที่สถาบันอาหารริเริ่มใหม่ๆ ภายในปีนี้อีกหลายโครงการ อาทิ การให้บริการรับส่งตัวอย่างสินค้าเพื่อรับการทดสอบจากห้องปฏิบัติการทดสอบด้วยรถบริการ Lab Delivery และโครงการจัดทำร้านแฟรนไชส์ ต้นแบบร้านอาหารไทย หนึ่งในโครงการครัวไทยสู่โลก ได้แก่ ร้านข้าวแกง ร้านต้นหอม และร้านรวมเส้น ซึ่งพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน THAIFEX World of food ASIA 2006 17 — 21 พฤษภาคม นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และจะนำไปแสดงในงาน International Franchise Expo ที่วอชิงตัน ดีซี ในเร็วๆนี้ โดยมีเป้าหมายในการขยายจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีประมาณ 9,000 กว่าแห่ง เป็น 20,000 แห่ง ในปี 2551 จากนี้ไปต้องมีการเพิ่มร้านอาหารปีละไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ในปี 49 จาก 9,000 แห่งก็เป็น 12,000 แห่ง
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ฝ่ายบริการข้อมูลและสารสนเทศ และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอาหารไทยและโครงการครัวไทยสู่โลก กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการครัวไทยสู่โลกว่า “ในฐานะที่สถาบันอาหารเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ เราก็ได้มียุทธศาสตร์ดำเนินการตามแผนปฎิบัติการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศ การประชาสัมพันธ์และการตลาดอาหารไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับร้านอาหารไทยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการวางแผนจัดการที่มี ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการเสริมในเรื่องของการขยายตัวของร้านอาหารไทย เรามีความสำเร็จระดับหนึ่งในการพัฒนาเมนูอาหารสู่เครือร้านอาหารที่เป็นแฟรนไชส์ นอกจากการพัฒนาร้านต้นแบบที่เป็นแฟรนไชส์ในลักษณะของร้านอาหารจานด่วนของร้านอาหารไทยที่จะนำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับทางเค เอฟ ซี เรามีเมนู เปาะเปี๊ย ไส้ไก่สมุนไพร และเมนูลาบไก่ ที่เค เอฟ ซี อยากให้ไปพรีเซ็นต์ให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งในเรื่องของน้ำจิ้ม ที่เราพัฒนามาจากแจ่ว ทำให้มันมีความเข้มข้นมากขึ้น แล้วก็มีน้ำสลัดที่เป็นทั้งน้ำข้น น้ำใส ที่ทำจากน้ำตะไคร้ ต่อไปก็จะเป็นไปได้ว่าจะมีเปาะเปี๊ยไส้ไก่สมุนไพร และลาบไก่ จำหน่ายในเค เอฟ ซี เริ่มต้นที่ประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และอาจรวมถึงญี่ปุ่นด้วย
ต่อจากนี้จะมีการส่งเมนูอาหารไทยไปในร้านร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้ามาเป็นแนวร่วมในการส่งเสริมอาหารไทย รวมถึงเครือโรงแรมในต่างประเทศ ที่รัฐบาลเข้าไปส่งเสริมในการเปิดร้านอาหารไทย หรือผลักดันให้มีการเปิดเมนูอาหารไทยในโรงแรมนั้น”
อนึ่งการส่งออกอาหารของไทยในปี 2548 ที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกลดลงเหลือเพียง 23.26 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 22.7 สำหรับการส่งออกมีมูลค่า 519,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 7.7 ในปี 2547
ส่วนสถานการณ์อาหารส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 แม้ปริมาณส่งออกจะลดลงร้อยละ 12.2 ด้วยปริมาณ 5.22 ล้านตัน แต่มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ด้วยมูลค่า 124,152 ล้านบาท
สำหรับสินค้าที่ผลักดันการส่งออกอาหารของไทยขยายตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเป็นหลัก เช่น กุ้ง ทูน่ากระป๋องและแปรรูป ปลากระป๋องและแปรรูป ไก่และสัตว์ปีก รวมทั้งผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัทโปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทรศัพท์ 0 2691 6302-4, 02 274 4961-2
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ