กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จะจัดให้มีการประชุมสัมมนาผู้แทนหน่วยต่าง ๆ ที่อยู่ใน ศรชล. ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๗ มี.ค.๔๙ ณ โรงแรมรอยัล ทวินซ์ พาเลซ เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก วีรพล วรานนท์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นประธานในพิธี
ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ได้มีการจัดตั้งในปี พ.ศ.๒๕๔๐ โดย กองทัพเรือ ได้เสนอแนวความคิดให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานในทะเลในทุก ๆ ด้าน ซึ่งต่อมารัฐบาล โดยสภาความ มั่นคงแห่งชาติ ได้จัดตั้ง ศรชล. ขึ้นมาเมื่อวันที่ ๙ ม.ค.๔๑ โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประกอบด้วย
หน่วยงานปฏิบัติ ได้แก่ กองทัพเรือ กองตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี และ กรมประมง
หน่วยปฏิบัติงานร่วม ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมสรรพสามิต กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรณี กรมศิลปากร เป็นต้น
ทั้งนี้ ศรชล. มีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญประกอบด้วย ประสานการปฏิบัติกับหน่วยต่าง ๆ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล ตลอดจนกิจกรรมทางทะเลอื่น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ และกระจายข่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ควบคุมการปฏิบัติของ ศรชล. เขตต่าง ๆ ตลอดจนปฏิบัติตามแผนและงานพิเศษอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจาก รัฐบาล โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่น่านน้ำไทย ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไปจนถึงทะเลหลวง โดยแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น ๓ เขต คือ ศรชล. เขต ๑ รับผิดชอบพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ศรชล. เขต ๒ รับผิดชอบพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง และ ศรชล. เขต ๓ รับผิดชอบพื้นที่ทะเลอันดามัน
สำหรับการจัดประชุมสัมมนาผู้แทนหน่วยใน ศรชล.ที่จัดให้มีขึ้นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้แทนหน่วยงานที่อยู่ใน ศรชล.ได้ทำความรู้จักค้นเคย แลกเปลี่ยนทัศนคติข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความคิดเห็นในการปฏิบัติงาน อันจะทำให้การประสานการปฏิบัติงานร่วมกันในอนาคต เกิดความสะดวกรวดเร็วสมตามความมุ่งหมาย และตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ศรชล.เป็นศูนย์กลางในการประสานงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการในทะเล โดยการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีหัวข้อพิจารณา ๒ หัวข้อ คือ ๑. แนวทางการพัฒนา ศรชล.ให้มีขีดความสามารถและบทบาทเพิ่มขึ้น
๒. แนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศรชล.กับการควบคุมแรงงานต่างด้าวหลบ หนีเข้าเมืองทางทะเล
(ที่มา : บทสัมภาษณ์ เสธ.ทร. การจัดการประชุม ศรชล.ครั้งที่ ๒/๔๙)