กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ก.พลังงาน
กระทรวงพลังงาน ชูยุทธศาสตร์กระจายประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เสริมสร้างความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ดัน จ.นครราชสีมาเป็นเมืองพลังงานทดแทน มีทางเลือกเชื้อเพลิงที่หลากหลาย
วันนี้ (18 ม.ค. 53) นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดสัมมนาและปาฐกถา เรื่อง “นโยบายความมั่นคงทางด้านพลังงาน” ในงานสัมมนา “ทิศทางและโอกาสการพัฒนาพลังงานทางเลือกของ จ.นครราชสีมา” ณ หอประชุม ๗๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า การกระจายประเภทของเชื้อเพลิงให้มีความหลากหลาย ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ให้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ากว่า 70% กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานชนิดอื่นมากขึ้น สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนและให้เงินส่วนเพิ่มแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) เพื่อดึงศักยภาพจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศออกมาใช้มากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย พลังงานชีวมวล พลังงานจากก๊าซชีวภาพ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ได้แก่ jการสร้างกระบวนการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการโดยให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการยอมรับ เช่น กระบวนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP) k การส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาและจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมทั้งการจัดตั้งสถานีพลังงานชุมชน และ lการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อรองรับกับวิกฤตและภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและ LPG
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่และมีปริมาณการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด แต่ในขณะเดียวกัน ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาพลังงานทดแทน ด้วยมีความพร้อมทั้งปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พลังงานน้ำ และพลังงานลม ซึ่งล้วนเป็น พลังงานทางเลือกที่กระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุน ตามแผนพลังงานทดแทน 15 ปี โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 6.4% ของพลังงานทั้งหมดในปัจจุบัน เป็น 20% ในอีก 15 ปี ข้างหน้า โดยครึ่งหนึ่งหรือ 10% จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานร่วมทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ พลังงานจากชีวมวล ไบโอแก๊ส
“นโยบายที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ คือ ทำให้อนาคตประเทศไทยมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยการวางแผนจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ เพื่อสร้างความหลากหลายทางเชื้อเพลิง ด้วยการพึ่งพาเชื้อเพลิงในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคา และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ การใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆหรือคงที่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงและการพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงจากต่างชาติ และท้ายที่สุดจะช่วยนำพาประเทศไทยไปสู่หนทางของความมั่นคงด้านพลังงานได้ไม่ยาก” นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าว