กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--บลจ.แอสเซท พลัส
บลจ.แอสเซท พลัส มองเศรษฐกิจจีน และฮ่องกง เติบโตโดดเด่นในปีนี้ เสนอขายกองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอชเอสไอ (ASP-HSI) เปิด IPO วันนี้ — 27 มกราคม 2553
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2553 บริษัทฯ มีมุมมองว่า ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4 ในปีที่ผ่านมา โดยประเทศในแถบเอเชียมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวได้เร็วและชัดเจนกว่าประเทศในกลุ่มภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่ระดับอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเห็นว่าน่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในภูมิภาคเอเชียเหนือ (North Asia ex Japan) จากแนวโน้มปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ และแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีขนาดใหญ่ในจีนและฮ่องกงที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงการได้รับผลดีจากการปรับตัวขึ้นของราคาหลักทรัพย์จากเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชีย โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น บริษัทฯ จึงเปิดขาย IPO กองทุนเปิดแอสเซทพลัสเอชเอสไอ (ASP-HSI) ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 มกราคม 2553 โดยกองทุน ASP-HSI เป็นกองทุนต่างประเทศประเภท Feeder Fund ที่เน้นลงทุนในกองทุน Hang Seng Index ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง บริหารจัดการโดย Hang Seng Investment Management Limited และซื้อขายในรูปสกุลเงินฮ่องกงดอลล่าร์ เพื่อมุ่งหาผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับ Hang Seng Index (HSI) ซึ่งมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน มีความน่าเชื่อถือของการประเมินมูลค่า และเกณฑ์ทางด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์
“กองทุน ASP-HSI นี้มีสภาพคล่องสูงสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ และมีการใช้กลยุทธ์ Proxy Hedging เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผ่านสกุลเงินที่มีทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินใกล้เคียงกับฮ่องกงดอลลาร์ ได้แก่ ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมีต้นทุนต่ำ และสภาพคล่องสูง ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และสามารถคาดหมายผลตอบแทนกองทุนได้จากการเคลื่อนไหวของ Hang Seng Index” ดร.วินกล่าว
ดร.วิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมินมูลค่า Hang Seng Index ปัจจุบันยังมีค่า P/E Ratio ในระดับที่ต่ำ ที่ประมาณ 16 เท่า และค่า P/B ที่ 1.5 เท่า โดยยังมีหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มโทรคมนาคม และธนาคาร ที่ยังมีค่า P/E อยู่ในระดับที่น่าสนใจ นอกจากนี้ หากปรับลดกลุ่มอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ออกจากดัชนี ระดับค่า P/E จะยิ่งปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 14 เท่า ในขณะที่แนวโน้มการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง และบริษัทที่มีการดำเนินกิจการในจีนมีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงต่อไป ตามภาวะการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีน ซึ่งโดยรวมน่าจะส่งผลให้หุ้นของบริษัทที่ประกอบการใน Hang Seng Index มีโอกาสปรับขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น จึงมองว่า ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่ดัชนีฮั่งเส็งจะปรับตัวได้ดีเช่นเดียวกับปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของ Hang Seng Index มีความผันผวนน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีหุ้นจีนอื่นๆ เช่น Hang Seng China Enterprise Index (HSCEI) ที่เป็นองค์ประกอบของหุ้นจีนทีซื้อขายที่ตลาดฮ่องกง (H-Share) และ Shanghai Stock Exchange Composite Index ที่เป็นองค์ประกอบของหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ (A-Share)
“เหตุผลที่แอสเซท พลัส เลือกลงทุนในกองทุนที่อ้างอิงผลตอบแทนของ Hang Seng Index เนื่องจาก ฮั่งเส็งเป็นดัชนีแรกของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งมีจุดเด่นด้านการกระจายการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำและขนาดใหญ่ที่สุดในจีน และฮ่องกง และเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงสุด โดยเป็นหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (The Stock Exchange of Hong Kong — Main Board) เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีสัดส่วนการลงทุนทั้งในหุ้นของบริษัทในฮ่องกงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HK Ordinary) เช่น HSBC Holding PLC. และ Hang Seng Bank หุ้นของบริษัทในจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง (H-Shares) ตลอดทั้งหุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนและประกอบธุรกิจในต่างประเทศ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Red Chips) เช่น หุ้นของบริษัท China Mobile, CNOOC, และ Bank of China เป็นต้น ทำให้ Hang Seng Index โดยรวมเป็นดัชนีที่มีส่วนประกอบของบริษัทที่มีธุรกิจกระจายทั่วโลก ที่รายได้จากการดำเนินงานมักจะมีการปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูง (High Growth Prospect)
ปัจจุบันหุ้นใน Hang Seng Index มีทั้งหมดประมาณ 40-50 บริษัท ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจจีน และฮ่องกง มูลค่าตลาด (Market Capitalized value) ประมาณ 9.3 ล้านล้านฮ่องกงดอลลาร์ และครอบคลุม 66% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา Hang Seng Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 60% อยู่ที่ระดับ 21,872.5 จุด (31 ธ.ค. 52) โดยในช่วงก่อนวิกฤตการเงินในปี 2551 ดัชนีเคยปรับตัวสูงสุดถึงระดับ 30,000 จุด” ดร.วินกล่าว
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้ลงทุนทั่วไป : Call Center 02-672-1111 สื่อมวลชน : ส่วนงานประชาสัมพันธ์ มุกพิม จุลพงศธร
โทร. 02-672-1000 ต่อ 3308 อีเมล์: mookpim_ch@assetfund.co.th