ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “ซิงเกอร์ประเทศไทย” ที่ “BBB/Positive”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 21, 2006 08:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” พร้อมแนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก" ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการรับรู้และจดจำในตราสินค้าของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครือข่ายสาขาที่กว้างขวางทั่วประเทศ และคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่มีคุณภาพเครดิตในระดับไม่สูง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการจัดเก็บหนี้ที่ถดถอยลง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนความคาดหวังว่าหลังจากที่บริษัทได้เปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์ในการพิจารณาสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้แบบใหม่ซึ่งรวมถึงการมีระบบคอมพิวเตอร์ใหม่อย่างเต็มที่แล้ว สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และอัตราการจัดเก็บหนี้ของบริษัทจะพัฒนาดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคแบบขายตรงเอาไว้ได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้วที่ตราสินค้า “ซิงเกอร์” แพร่หลายในประเทศไทยซึ่งส่งผลให้เกิดความรับรู้และจดจำในตราสินค้าในระดับที่แข็งแกร่งสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ตราสินค้าซิงเกอร์เป็นที่รู้จักอย่างดีในเขตต่างจังหวัดจากการที่บริษัทมีเครือข่ายที่กว้างขวางถึง 257 สาขาทั่วประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ซึ่งทำให้บริษัทสามารถขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 เมื่อเปรียบเทียบ
จากยอดสินเชื่อคงค้าง บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการทางการเงินแบบขายตรงสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและสินค้าอื่นๆ รายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งที่เป็นตราสินค้าของซิงเกอร์และตราสินค้าอื่นๆ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ฐานลูกค้าของซิงเกอร์เพิ่มขึ้นจาก 352,179 รายในปี 2543 เป็น 409,928 ราย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 บริษัทไม่มีกิจกรรมทางการตลาดใดๆ ที่โดดเด่นในช่วงปี 2541-2544 ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างลดลงจาก 3,123 ล้านบาทในปี 2542 เป็น 2,954 ล้านบาทในปี 2543 และ 2,799 ล้านบาทในปี 2544 บริษัทได้เพิ่มสินค้ารถจักรยานยนต์เข้ามาในปี 2544 เนื่องจากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มชะลอตัวลง ผนวกกับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ตลาดรถจักรยานยนต์ได้ขยายตัวมากขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ย 32% ต่อปีในช่วงปี 2545-2547 นอกจากนี้ ราคาเช่าซื้อโดยเฉลี่ยของรถจักรยานยนต์ซึ่งสูงกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังกระตุ้นให้พนักงานขายเน้นการขายรถจักรยานยนต์มากกว่าเพื่อให้ได้ค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 บริษัทมีสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในสัดส่วนถึง 62% ของสินเชื่อคงค้าง โดยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจาก 8% ในปี 2545 25% ในปี 2546 และ 45% ในปี 2547 บริษัทมีรายได้รวมจากการขายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2545 เป็น 44% ในปี 2547 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากบริษัทคาดหวังว่าจะมีสัดส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ระดับ 60% ของสินเชื่อใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถจักรยานยนต์ให้ผลกำไรจากการขายที่ต่ำกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า กำไรขั้นต้นของบริษัทจึงลดลงจาก 37.8% ในปี 2544 เป็น 19.0% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2548
ตั้งแต่ปลายปี 2547 จนถึงปี 2548 บริษัทได้ใช้กลยุทธ์เชิงรุกโดยการเสนอเงินดาวน์ต่ำสำหรับสินเชื่อรถจักรยานยนต์เพื่อให้ได้จำนวนสินเชื่อใหม่ที่มากขึ้น ทว่ากลยุทธ์ดังกล่าวกลับดึงดูดลูกค้าที่มีเครดิตไม่ดีซึ่งส่งผลให้มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพการจัดเก็บหนี้ถดถอยลง โดยค่าเฉลี่ยในการจัดเก็บหนี้รายเดือนของบริษัทลดลงจากระดับที่มากกว่า 90% ในช่วงปี 2542-2545 เป็น 84.7% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 ในเวลาเดียวกัน อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 8.9% ในปี 2545 เป็น 15.7% ในปี 2547 แต่ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 12.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 เนื่องจากสินเชื่อรวมมีการขยายตัวประสิทธิภาพการจัดเก็บหนี้ที่ลดลงและสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเนื่องจากมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงจาก 5.1% ในปี 2545 เป็น 2.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 2548 ผู้บริหารได้ตัดสินใจเพิ่มระดับเงินดาวน์สำหรับสินเชื่อรถจักรยานยนต์และนำเสนอโครงการประกันภัยในชื่อ “Smart Care” ซึ่งได้รวมการประกันหนี้เสียไว้ด้วยเพื่อลดความสูญเสียจากสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
บริษัทอยู่ในระหว่างการปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้โดยการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้และเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งทริสเรทติ้งกล่าวว่าจะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความพยายามดังกล่าวต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ