กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแผนยุทธศาสตร์ปี 2553 เน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อต่อยอดสู่ภาคธุรกิจในเชิงพาณิชย์ตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมกวดขันและเร่งรัดการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างแบ็คโบนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
แผนยุทธศาสตร์ปี 2553 จะเน้นให้มีการดำเนินงานนโยบายด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านการแต่งตั้งคณะทำงาน รวม 6 คณะ เพื่อรับผิดชอบงานในแต่ละด้าน ได้แก่การสืบสวนและปราบปราม การศึกษาเรียนรู้ การประชาสัมพันธ์ การละเมิดบนอินเทอร์เน็ต การละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ และการติดตามสืบสวนขยายผลการจับกุม รวมทั้งเห็นชอบแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการปรับปรุงกระบวนการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการด้านสิทธิบัตร มาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต มาตรการด้านกฎหมาย และมาตรการด้านความร่วมมือกับเอกชน
การดำเนินการที่สำคัญในปี 2552 ประกอบด้วยด้านการปราบปราม 28 กรณี โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มีการดำเนินงานที่สำคัญ 6 โครงการ เช่น การเปิดป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มิให้ถือสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานำเข้าติดตัวเข้าไปยังประเทศในยุโรป ซึ่งอาจต้องโทษจำคุกและโทษปรับ, การรณรงค์ “หยุดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” (STOP PIRACY) โดยร่วมกับศิลปินและดาราภาพยนตร์, กิจกรรมรณรงค์ “รักไทยใช้ของแท้”, โครงการ SPY IP “สายลับทรัพย์สินทางปัญญา และในส่วนของการทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มี 2 ครั้ง ในวันที่ 27 มีนาคม 2552 และ 29 กันยายน 2552 มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 2,203 ล้านบาท โดยมีสถิติปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษจับกุมได้ 6,418 คดี ยึดของกลางได้ 4,568,157 ชิ้น และ กรมศุลกากร จับกุมได้ 497 คดี ยึดของกลางได้ 323,167 ชิ้น ซึ่งในปีนี้ยังคงเน้นการปราบปรามและการรณรงค์อย่างเข้มแข็ง เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานนโยบายด้านการส่งเสริมการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ตามพันธะสัญญาของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามพันธสัญญาดังกล่าว รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและพิจารณาโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นไปตามพันธสัญญาของรัฐบาล โดยมีการดำเนินงานตามแผนงานพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการต้นแบบของพสกนิกรไทย “ในหลวง” กับ “การสร้างสรรค์” (Creative’s King) โครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน(Creative’s Kids) เป็นต้น นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีสถิติการรับจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งในด้านการปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริการ ประสิทธิภาพการปฎิบัติงานในทุกหน่วยงานของกรมฯ และการวางรากฐานด้านนโยบายทั้งระดับมหภาคและจุลภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปกป้องและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ไทยให้ก้าวสู่ตลาดการค้าโลกอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ฯ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
คุณสุจิรา
โทรศัพท์ 0-2547- 4696