กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สามารถ คอร์ปอเรชั่น
โครงการ SAMART Innovation Awards 2009 หรือ SIA (ครั้งที่ 7) ปิดฉากการแข่งขันประกวดออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ในปีที่ผ่านมาอย่างสวยหรู โดยผลงาน Remote Complex จากจุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลสุดยอดไปครอง จากผลงานเข้าร่วมกว่า 200 ผลงาน พร้อมประกาศเปิดฉากโครงการ SIA ปีที่ 8 ด้วยความยิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศในปี 2010
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการแข่งขันประกวดออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ SAMART Innovation Awards 2010 ในปีนี้จะยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เนื่องจากบริษัทฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯพระราชทานรางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศเป็นปีแรก หลังจากบริษัทฯได้ริเริ่มโครงการฯ ขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และได้รับการสนับสนุนด้วยดีมาโดยตลอดจากเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ในการจัดกิจกรรมที่เป็นเสมือนเวทีให้เยาวชนและบุคคลทั่วไป ได้แสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมีผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 1,700 ผลงาน ได้รับรางวัล จำนวน 108 ผลงาน หรือกว่า 400 คน จากนักพัฒนาไอทีที่เข้าร่วมโครงการฯกว่า 3,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผลงานที่สามารถนำออกสู่ตลาดไปแล้วหลายผลงาน อาทิเช่น ผลงาน BomberQuest จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเกมแนว Action ผลงาน CORESONX จากเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นโปรแกรมที่สามารถแสดงเนื้อเพลงที่ผู้ใช้กำลังฟังอยู่ได้ ผลงาน hiLive จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ช่วยให้คุณสามารถเล่น hi5 ได้ทุกที่ทุกเวลา ฯลฯ
สำหรับผลการประกวดในปี 2009 นับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 200 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัลทั้งสิ้น 13 ผลงาน โดยทีมชนะเลิศได้รับรางวัล Gold Award ได้แก่ ผลงานในประเภท Mobile Phone Application ชื่อผลงาน Remote Complex ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษา 3 คน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโปรแกรมที่เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนเข้ากับคอมพิวเตอร์ เพื่อนำคุณสมบัติของโทรศัพท์ไปใช้ทดแทนอุปกรณ์เสริมต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ ที่มักต้องซื้อแยกต่างหาก ทำให้สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย
ผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ หรือรางวัล Silver Award มีทั้งสิ้น 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงาน DJ Tuner ประเภท Mobile Phone Application และผลงาน Mobile Token Server ในประเภท Business Software รางวัล Bronze Award มี 4 ผลงาน และรางวัลชมเชยมีทั้งสิ้น 6 ผลงาน
ทั้งนี้ผลงานทุกชิ้นในปี 2009 ที่ได้รับรางวัล สำหรับประเภท Mobile Phone Application ทางสามารถเองมีแนวทางที่จะผลักดันออกขายสู่ตลาดจริง ผ่านช่องทางต่างๆ ของสามารถ รวมทั้งคัดเลือกบางผลงานที่โดดเด่นลงในมือถือ ไอ-โมบาย ด้วย ซึ่งเป็นการสนับสนุนและสร้างรายได้ให้กับนักไอทีไทย ให้มีโอกาสเทียบชั้นนักไอทีต่างชาติ
โครงการในปี 2010 นี้ ได้แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ Mobile Phone Application และ Business Software และต้องผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้นถึง 3 รอบ จากคณะกรรมการตัดสินที่ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆมากมาย ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการจากซอฟต์แวร์พาร์ค, เน็คเท็ค, ซิป้า, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ , ซันไมโคร ซิสเต็ม ฯลฯ รวมทั้งทีมงานจากกลุ่มบริษัทสามารถ ทั้งบริษัท เบรนซอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการคิดค้นพัฒนาคอนเทนต์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี 3G ในโทรศัพท์มือถือไอ-โมบาย และอีกหนึ่งทีมงานจาก บริษัท สมาร์ทเทอร์แวร์ จำกัด ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการด้านการผลิต การบริการ และเป็นที่ปรึกษา ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบงานแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Solution) และบริการด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์แบบครบวงจร รวมทั้งการผลิตสินค้าซอฟต์แวร์สำเร็จรูปด้วย สำหรับผลงานที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล จะได้ข้อเสนอพิเศษจากบริษัทฯ ในการทำธุรกิจร่วมกัน สิทธิพิเศษในการเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ และโครงการบ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ กับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย รวมทั้งเงินรางวัลต่างๆรวมมูลค่ากว่า 600,000 บาท ผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 มิ.ย.นี้ หรือดูข้อมูลต่างๆได้ที่เว็บไซด์ www.samartsia.com
“การได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯพระราชทานรางวัลในครั้งนี้ นับเป็นความยิ่งใหญ่ และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่บริษัทฯเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งยังจะเป็นกำลังใจให้บริษัทฯสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมสืบต่อไป และสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ นับเป็นสิริมงคลสูงสุด และเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงให้แก่ตนเอง และสถาบัน” นายเจริญรัฐ กล่าวปิดท้าย