ฟื้นอาหารเมืองจากผู้รู้... สู่เยาวชนรุ่นใหม่ เข้าใจวิถีชีวิตการกินของคนชุมชนดอนมูลพัฒนาในอดีต

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2005 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--โครงการครอบครัวเข้มแข็ง
ประเทศไทยถือว่าโชคดีในเรื่องอาหารการกิน เพราะอาหารไทย ถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่ามากมาย มีสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมคนสมัยก่อนจึงไม่ค่อยเจ็บป่วย เพราะเขากินอาหารพื้นบ้าน เก็บผักริมรั้วกิน จับปลาในคลอง แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ไม่เห็นประโยชน์ของอาหารพื้นบ้าน แต่กลับนิยมชมชอบอาหารจานด่วนที่ให้แต่โปรตีน ให้พลังงาน แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บให้กับร่างกายเรา
เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนในชุมชน หันมากินอาหารพื้นบ้าน ทางแกนนำโครงการครอบครัวเข้มแข็ง บ้านดอนมูลพัฒนา จ.น่าน จึงจัดเวทีฟื้นอาหารพื้นเมืองให้กับกลุ่มเยาวชน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ป้าบัวตอง มูลแก้ว อายุ 53 ปี เล่าให้ฟังว่า ในอดีตวิถีชีวิตของคนที่นี่คือทำเกษตร อาหารการกินก็จะเป็นของที่มีอยู่ในชุมชน ประเภทผักพื้นบ้าน ผักริมรั้วที่ขึ้นตามฤดูกาล เช่น มะเขือ ผักบุ้ง ผักนำแก้ว (ฟักทอง) ชาวบ้านในชุมชนเกือบจะไม่ได้ซื้อผักกินเลย เพราะส่วนใหญ่จะเก็บผักที่อยู่ในบ้านทั้งที่ปลูกเอง และขึ้นเองตามธรรมชาติมาประกอบอาหาร
ส่วนเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่หาได้จากลำธารในชุมชน เป็ด ไก่เราก็เลี้ยงเอง ไว้กินไข่ ของที่จะต้องซื้อก็จะเป็นพวกกะปิ น้ำปลา และหลังจากที่ทำอาหารแล้ว หากบ้านไหนทำกับข้าวกินก็จะตักแบ่งให้กับเพื่อนบ้าน เป็นการแบ่งปันกัน แต่วิถีชีวิตแบบนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก แม้จะมีอยู่แต่ก็น้อยลงกว่าสมัยก่อน เช่นในอดีตผักบางอย่างที่เราไม่ต้องซื้อในอดีต ปัจจุบันนี้ก็ต้องซื้อ
กิจกรรมฟื้นวิถีชิวิตการกินให้กับเยาวชนในครั้งนี้ ป้าบัวตอง ได้นำสูตรอาหารเมืองมาสอนเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นแกงแค น้ำพริกอ่อง แกงผักกาด ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองทั้งสิ้น แต่ที่อยากจะนำเสนอคือ สูตรการทำ “แกงแค” เพราะเด็กๆ สมัยนี้ทำและกินกันไม่เป็นแล้ว
แกงแค จะประกอบด้วยผักหลายๆ ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้านที่ไม่ต้องซื้อหา ได้แก่ ชะอม ถั่วฝักยาว มะเขือเปาะ มะเขือพวง ใบพญายอ ผักแค ใบผักกาด ผักขี้หูด ส่วนน้ำพริกแกงประกอบด้วย พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ตำรวมกันให้ละเอียด
วิธีการทำ มีเคล็ดลับคือ นำน้ำพริกที่ได้ไปผัดกับน้ำมัน ใส่เนื้อสัตว์ จะเป็นหมู หรือไก่ ก็ได้ตามชอบ เมื่อเนื้อสัตว์ใกล้จะสุก จึงค่อยๆ เติมน้ำ ให้เดือด แล้วใส่ผักลงไปโดยเริ่มจากผักที่สุกยากที่สุด เมื่อทุกอย่างสุกปรุงรสเท่านี้เป็นอันเสร็จเราก็จะได้แกงแคที่มีคุณค่าจากสมุนไพรพื้นบ้าน ทั้งในน้ำพริกแกง และผักชนิดต่างๆ
วิถีการกินของเยาวชนในชุมชนเปลี่ยนไปมาก กินอาหารเมืองไม่ค่อยเป็น จะกินแต่อาหารฝรั่ง อาหารขยะ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ พ่อแม่มีวิถีการกินที่เปลี่ยนไป ทำอาหารพื้นเมืองไม่ค่อยเป็น จะซื้อแต่อาหารสำเร็จมาให้เด็กๆ กิน เลยทำให้ลูกๆ กินอาหารพื้นเมืองไม่เป็น นอกจากพ่อแม่ไม่ทำอาหารพื้นเมืองแล้ว การที่เด็กๆ ดูโฆษณาในโทรทัศน์ก็มีส่วนทำให้เด็กๆ เปลี่ยนวิถีการกินด้วยเช่นกัน
ป้าบัวตอง เล่าต่อว่า “การทำอาหารพื้นเมือง นอกจากจะรักษาวิถีการกินของเราไว้แล้ว สิ่งที่ได้จากการทำครัวร่วมกันคือสายสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพราะการที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายเรียกหลานๆ มาทำครัวด้วย แม้ว่าเขาจะทำอาหารไม่เป็น เราก็ให้เขาช่วยล้าง ช่วยเด็ดผัก ช่วงที่ทำก็พูดคุยกันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายการทำอาหาร การถามทุกข์-สุข วันนี้ลูกหลานไปพบเจออะไรมาบ้าง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า เราสามารถพูดคุยกันได้ในระหว่างที่ทำอาหาร”
น.ส.ปรีดาภรณ์ ธิศรี หรือ น้องน้ำฝน อายุ 15 ปี เรียน ชั้น ม.3 โรงเรียนศรีสวัสดิ์ เยาวชนที่เข้ามาเป็นแกนนำครอบครัวเข้มแข็ง บ้านดอนมูลพัฒนา น้ำฝนเล่าให้ฟังว่า มาร่วมเวทีเรียนรู้กับพ่อ มาแล้วรู้สึกสนุก เพราะเราได้มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของเวที ได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้น
ในเรื่องการบริโภคของเด็กและเยาวชนในชุมชนดอนมูลพัฒนา ปัจจุบันนี้ถือว่าเปลี่ยนไปมาก ตอนที่น้ำฝนเด็กๆ จำได้ว่าเราจะกินแต่อาหาร และขนมพื้นบ้าน แม่ ยาย จะทำให้กินที่บ้าน แต่เด็กสมัยนี้หันมากินแต่ขนมถุงๆ มากขึ้น ถือว่าตัวเองโชคดีที่ครอบครัวสอนให้รู้จักค่าของเงิน แต่พ่อกับแม่จะไม่ได้สอนด้วยคำพูด แต่วิธีการสอนคือ การพาเราไปนา ไปสวนด้วย เราก็จะเห็นความยากลำบากของพ่อแม่ เห็นว่าเขาเหนื่อย เราจึงเข้าใจว่ากว่าจะได้เงินมามันไม่ใช่เรื่องง่าย เวลาเราใช้เงินจึงต้องคิดแล้วคิดอีกว่ามันจำเป็นหรือไม่
เวลาพ่อ แม่ ตา ยาย เข้าครัวทำอาหาร ก็จะเรียกน้ำฝนเข้าครัวด้วย สิ่งที่ได้คือ วิธีการทำอาหารพื้นเมืองแต่ละอย่าง การทำแกงจะต้องใส่อะไรก่อนหลัง พ่อแม่ ตา ยาย ก็จะบอกเราเป็นขั้นตอน ฝนก็จะได้เทคนิคการทำอาหารพื้นเมืองแต่ละอย่างด้วย เวลาเข้าครัว พ่อแม่ก็จะถามฝนเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน เราก็จะกล้าพูดกล้าบอกพ่อแม่ เวลามีปัญหาก็จะกล้าที่จะเข้าไปปรึกษาพ่อกับแม่ด้วย
การจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นการรื้อฟื้นอาหารพื้นบ้าน เพียงต้องการให้พ่อแม่ลูกได้เรียนรู้ที่จะหันกลับมาทำอาหารพื้นเมืองกินกันในครอบครัว เพราะเท่าที่สังเกต เด็กๆ ในชุมชนไม่ค่อยรู้จักอาหารพื้นเมืองแล้ว ไม่รู้จักว่าแกงแค แกงผักกาด หน้าตาเป็นอย่างไร เด็กบางคนก็กินไม่เป็น เพราะไม่เคยกิน เด็กๆ จะคุ้นเคยกับอาหารไทยทั่วๆ ไป ส่วนขนมถุงๆ เด็กๆ ก็จะเห็นจากโฆษณาในโทรทัศน์ และเห็นตามร้านค้า
อยากจะฝากเพื่อนๆ น้องๆ เยาวชน ทุกคน ว่า เรายังหาเงินเองไม่ได้ จึงไม่ควรใช้จ่ายเงินมากเกินไป ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะเยาวชนที่อยากมีโทรศัพท์มือถือ ฝนคิดว่ายังไม่จำเป็น เราอยู่ในวัยเรียนหนังสือ ไม่มีธุระอะไรที่จะต้องติดต่อมากมาย เพราะการมีโทรศัพท์มันสิ้นเปลือง เด็กๆ บางคนที่มีมือถือ บางคนคุยเรื่องไม่มีสาระ โทรคุยเล่นกัน ส่วนเรื่องการกิน ก็อยากให้หันมากินอาหารพื้นเมืองของเราดีกว่า มีประโยชน์กว่า ปลอดภัยกว่า ถูกกว่า ถ้ายิ่งเราได้ทำเอง เราจะเกิดความภูมิใจในฝีมือของเราด้วย
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พ่อแม่ควรจะหันมาใส่ใจในเรื่องการกินในครอบครัว การทำอาหาร ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เลย อย่างน้อยก็ได้ในเรื่องความสัมพันธ์ ความสะอาดปลอดภัย ช่วยรักษาสูตรเด็ดเคล็ดลับอาหารพื้นเมืองของเราไว้ไม่ให้สูญหาย และเป็นการป้องกันกระแสการบริโภคนิยมได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะการรู้เท่าทัน เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวของเรา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ประชาสัมพันธ์ โครงการครอบครัวเข้มแข็ง
โทรศัพท์ 0 2913 7555 ต่อ 4640 โทรสาร 0 2831 8499--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ