กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--กรมบัญชีกลาง
นายนริศ ชัยสูตร รองปลัดกระทรวงการคลัง และนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้นโยบายผู้บริหารจากส่วนกลาง คลังเขต คลังจังหวัดทั่วประเทศ ทำงานเชิงรุก พัฒนารูปแบบการทำงานใหม่ Redesign Process ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงรายรีสอร์ท จังหวัดเชียงราย วันที่ 20 มกราคม 2553
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารได้เสนอแนวทางการทำงานแบบใหม่ เป็นการ Redesign Process และ Fiscal Consolidation ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็นระยะ ๆ คื่อ งานเร่งด่วน และงานที่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก่อน โดยงานเร่งด่วนเป็นการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติและการกระจายอำนาจ ให้หัวหน้าส่วนราชการใช้ดุลยพินิจ การอนุมัติเป็นหลักการแทนการพิจารณาอนุมัติเฉพาะรายการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ การกำหนดมาตรการให้ทราบเพื่อปฏิบัติเป็นการล่วงหน้า เป็นต้น
สำหรับการดำเนินการที่จะต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งตามสมควร มีแนวคิดเกี่ยวกับการปรับกระบวนการการทำงาน ให้มีการกระจายอำนาจหรือการมอบหมายให้คลังเขตหรือคลังจังหวัดปฏิบัติงานในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือกรมบัญชีกลาง เพื่อทำหน้าที่ติดตาม (Monitoring) และการประเมินผล (Evaluation) ซึ่งจากการติดตามและประเมินผล จะทำให้สามารถประเมินประสิทธิภาพของส่วนราชการต่าง ๆ ได้ และจะนำไปสู่ Deregulation โดยการมอบหมายดังกล่าวทางสำนักกฎหมายจะต้องให้ข้อมูล ความรู้ ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบแก่คลังเขตและคลังจังหวัดอย่างเพียงพอ (โครงการนิเทศสัญจรกฎหมาย)
ผลงานที่ผ่านมาเช่น
1. การปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของ ส่วนราชการและให้ความสำคัญต่อส่วนราชการในการใช้ดุลพินิจนอกเหนือระเบียบ
2. การพิจารณานำหลักเกณฑ์ในเรื่องเดียวกันหรือเกี่ยวข้อง ใกล้เคียงกันซึ่งกำหนดโดยอาศัยอำนาจต่าง ๆ เช่น มติ ครม, หลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง การอนุมัติของกระทรวงการคลัง มาปรับปรุงโดยใช้ฐานอำนาจกระทรวงการคลัง เพื่อสะดวกและมีความชัดเจนในการปฏิบัติ
3. โครงการนิเทศสัญจรกฎหมายและการอบรมความรู้ตามหลักสูตรของกองพัฒนาทรัพยากรบุคคล การให้ความรู้แก่บุคลากรของกรม (โครงการสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานคลังเขตและสำนักงานคลังจังหวัด ด้านกฎหมายการคลัง) และบุคลากรในส่วนกลาง
4. การแก้ไขเพิ่มเติม พรบ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการและ พรบ. กบข. โดยให้นำเงิน ชคบ. มารวมเป็นเบี้ยหวัดหรือบำนาญ และปรับปรุงการจ่ายบำเหน็จตกทอดให้สอดคล้องกันซึ่งเป็นการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ผู้รับบำนาญได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น (อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) สำหรับการ Redesign Process ที่จะต้องทำต่อไป คือ การอนุมัติหลักการให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการขออนุมัติต่อกระทรวงการคลังเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย การยกเลิกกฎหมายและระเบียบทีทำให้เกิดความยุ่งยากซ้ำซ้อน การมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจในการสั่งจ่ายบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การปฏิบัติในรูปแบบ Fiscal Consolidation ที่ผ่านมา เช่น ได้แก่ มาตรการประหยัดในการเบิกค่าใช้จ่ายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เกี่ยวกับการประหยัดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดประชุม และแผนการดำเนินงานที่ต้องทำต่อไป เช่น การปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว เช่นการเบิกจ่ายค่าเช่าที่พักในการฝึกอบรมไม่จัดที่พักให้โดยกำหนดอัตราค่าเช่าที่พัก ที่มีสิทธิเบิกไว้ให้ชัดเจนโดยไม่อิงกับพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดเอกสารและหลักฐานการเบิกจ่าย และเอกสารประกอบการเบิกจ่ายไว้ในระเบียบให้ชัดเจน