กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
นางจิราวรรณ จงสุทธนามณี วัฒนศิริธร ประธานคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา แถลงเป้าหมายและทิศทางการตรวจสอบการใช้งบประมาณและการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยจัดอันดับความสำคัญของการรักษาคุณภาพน้ำเป็นกรอบสำคัญในการตรวจสอบเบื้องต้น เนื่องจากผลการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ ปรากฏว่าสถานการณ์น้ำในประเทศไทยปี 2552 ในแม่น้ำสายสำคัญ 48 สาย และแหล่งน้ำนิ่ง 4 แหล่ง คุณภาพผิวดินอยู่ในเกณฑ์ดี พอใช้ และเสื่อมโทรม คิดเป็นร้อยละ 36 32 และ 32 ตามลำดับ แต่เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำย้อนหลังไป 2 ปี ปรากฏว่าคุณภาพน้ำที่เคยอยู่ในเกณฑ์ดี ในปี 2552 ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ได้แก่ แควใหญ่ ป่าสัก เจ้าพระยาตอนกลาง แม่อูน หนองหาน และลุ่มน้ำปากพนัง เป็นต้น ขณะที่น้ำทะเลชายฝั่ง เริ่มมีคุณภาพลดลงได้แก่ เกาะเสม็ด เกาสีชัง อ่าวสะพลี หาดทุ่งวัวแล่น หาดทรายรี เกาะสมุย เกาพงัน เป็นต้น ส่วนคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมสูงมาก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำแม่กลอง รวมทั้ง ปากแม่น้ำบ้านแหลม ด้านกลาง จังหวัดเพชรบุรี
จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าพื้นที่น้ำต่างๆ นั้น อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะบริเวณที่แม่น้ำสายหลักตอนล่างที่ไหลผ่านชุมชนขนาดใหญ่ ในบางเขตมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฟาร์มสุกร และการเพาะเลี้ยงต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นต่อไป โดยคณะ อนุกรรมาธิการจะดำเนินการตรวจสอบและเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
โดยคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้นำตัวอย่างตะกอนดินและปริมาณน้ำเสียบางพื้นที่มาแสดงให้เห็นว่าของเสียต่างๆ เมื่อระบายลงสู่แหล่งน้ำส่วนหนึ่งก็จะเจือปนในน้ำ และอีกส่วนหนึ่งจะสะสมในตะกอนดิน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำด้วย เช่น กรณีของคลองชากหมาก อำเภอมาบตาพุด ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นปัญหาที่รัฐบาลกำลังรีบเร่งแก้ไขในขณะนี้ คลองชากหมากไหลผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งตะกอนมีสีดำจากการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ โลหะหนักบางชนิด และสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน รวมทั้งได้มีการปิดพื้นที่จากการถมทะเล ทำให้ไม่มีการถ่ายเทเป็นเหตุให้ปริมาณของเสียสะสม ประเมินว่าปริมาณตะกอนดินสูงถึง 300,000 ตัน ที่ผ่านมาการนิคมอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสากรรม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดระยองยังมิได้เข้ามาดูแลอย่างเป็นระบบ ซึ่งทางคณะ อนุกรรมาธิการจะเร่งติดตามและดำเนินการเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ตามวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
ในกรณีคลองแสนแสบคงทราบว่าปัญหาน้ำเน่าเสียเกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว น้ำมีลักษณะสีดำ กลิ่นเหม็น อ็อกซิเจนละลายน้ำต่ำ เกิดการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่เกิดจากสิ่งปฏิกูลขับถ่ายของมนุษย์สูงมาก บางช่วงสัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และมีการตกสะสมของตะกอนสีดำ บางช่วงน้ำสะสมก่อให้เกิดสภาพไร้อ็อกซิเจน จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขในการก่อสร้างระบบน้ำเสียให้คลอบคลุมเต็มพื้นที่
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ :
สว.จิราวรรณ จงสุทธนามณี วัฒนศิริธร ประธานคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
สำนักกรรมาธิการ 1 กลุ่มงานคณะกรรมาธิการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายการุณย์ พิมพ์สังกุล karnkarun@gmail.com
โทรศัพท์ 0-2831-9163 โทรสาร 0-2831-9146
www.senate.go.th