สภาอุตสาหกรรมฯ เปิดโลกเด็กระยองเรียนรู้ “ปิโตรเคมี”

ข่าวทั่วไป Thursday January 21, 2010 12:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--สภาอุตสาหกรรมฯ เมื่อเอ่ยถึง “ปิโตรเคมี” หลายคนอาจรู้สึกห่างเหินหรือมองว่าเป็นสิ่งไกลตัว แต่จริงๆแล้ว “ปิโตรเคมี” กลับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดและมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคใหม่อย่างแยกไม่ออก นับตั้งแต่ตื่นเช้าไปจนถึงเข้านอน เอาง่ายๆ ว่า ถุงพลาสติก ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีอย่างหนึ่ง จากการที่พวกเรามักหลงลืมสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวนี้เอง เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงจัด “นิทรรศการเปิดโลกอุตสหกรรมปิโตรเคมี” ณ สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง เพื่อให้เยาวชนจากโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 11 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา, โรงเรียนวัดห้วยโป่ง, โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร, โรงเรียนระยองวิทยาคม นิคมอุตสาหกรรม, โรงเรียนระยองวิทยาคม ปากน้ำ, โรงเรียนชุมชนวัดบ้านแลง, โรงเรียนระยองวิทยาคาร, โรงเรียนชุมชนวัดทับมา, โรงเรียนวัดป่าประดู่, โรงเรียนเทศบาลมาบตาพุดและโรงเรียนวัดตะพงนอก ได้ทำความรู้จักและมีความเข้าใจต่อกระบวนการทำงานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากขึ้น นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในเมื่อทุกวันนี้เราต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ตลอด ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ แปรงสีฟัน แก้วพลาสติก หรือแม้แต่สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ดังนั้นเราต้องรู้จักใช้อุตสาหกรรมนี้ให้เป็นประโยชน์กับอนาคต ในอดีตเราอาจรู้สึกไม่ดีกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีว่าสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยาก และมลพิษทางอากาศจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ทำให้คนในชุมชนรอบข้างเจ็บป่วย เพราะในหลายโรงงานไม่มีวิธีการจัดการที่ดี ซึ่งแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเองก็ต้องรู้จักจัดการสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เป็นโทษแก่สิ่งแวดล้อมด้วย วันนี้จึงเป็นโอกาสที่น้องๆ จะได้รู้จักกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากขึ้น ได้รู้ว่าในโรงงานมีอุตสาหกรรมอะไรบ้าง นักวิศกรเคมีต้องทำงานแบบไหนอย่างไร หวังว่าน้องๆ จะสามารถปรับประยุกต์ใช้ความรู้จากนิทรรศการเปิดโลกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้” นิทรรศการเปิดโลกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 สถานีความรู้ ได้แก่ สถานีเปิดขุมทรัพย์ใต้พิภพ ค้นหาคำตอบว่า ปิโตรเลียมมีที่มาอย่างไร แปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้กี่ชนิด และร่วมทำ เทียนหอมสมุนไพร เป็นของที่ระลึกจากพาราฟิน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน ด.ญ.อรนรินทร์ ทองสุขโชติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดตะพงนอก บอกว่า ภูมิใจที่ได้ทำเทียนด้วยมือของตัวเอง “คิดว่าจะเอาไปฝากพ่อแม่ แล้วก็เพื่อนด้วยค่ะ มาทำกิจกรรมวันนี้จากที่ไม่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะยากต้องจำเยอะ ตอนนี้รู้สึกชอบวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะได้มาทดลองทำด้วยตัวเอง ได้ร่วมสนุกกับเพื่อนๆ รู้สึกไม่ยากอย่างที่คิด น่าจะทำให้เรียนวิทยาศาสตร์ได้สนุกและง่ายขึ้น” ด้าน ด.ญ.ฐานิดา มีชัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร เล่าว่า เธอชอบกิจกรรม ลูกบอลมหัศจรรย์....พอลิเมอร์เด้งดึ๋ง ในสถานีปิโตรเคมีในชีวิตประจำวัน มากที่สุด “รู้สึกสนุกและตื่นเต้นตอนทำการทดลอง ก่อนทดลองจริงคิดว่า กาวกับบอแรกซ์พอผสมกันคงออกมาเป็นสารเหนียวๆ ธรรมดา แต่พอทดลองแล้วผิดคาด เลยเข้าใจว่าบอแรกซ์ทำให้กาวแข็งตัวขึ้น แล้วทำให้สารที่มีอนุภาคติดกันมีความยืดหยุ่นมากขึ้น กลายเป็นลูกบอลเด้งดึ๋งได้ การมาทัศนศึกษานอกห้องเรียนทำให้เชื่อมโยงความรู้จากสิ่งที่เห็นกับความรู้ในห้องเรียนได้ง่ายขึ้น อย่างสถานีนี้ทำให้รู้ว่าปิโตรเคมีต่างกับปิโตรเลียมอย่างไร ซึ่งสามารถนำไปเชื่อมโยงกับวิชาวิทยาศาสตร์ได้” นอกจากการทดลองที่สนุกสนานแล้ว อีกหนึ่งสถานี ตะลุยโรงงานปิโตรเคมี ได้เปิดโลกทัศน์ให้น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับพี่ๆ นักวิศกรเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แบบตัวต่อตัว ชนิดที่เรียกว่า ถ้าน้องๆ กล้าถามกล้าตอบก็ได้ความรู้ลงกระเป๋าไปไม่อั้น “สถานีนี้แนะนำให้น้องๆ รู้จักว่าในโรงงานประกอบด้วยตำแหน่งอะไรบ้าง ถ้าอยากเป็นอย่างพี่ๆ ต้องเรียนอะไร และควรฝึกความถนัดในด้านไหน มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างง่ายๆ ด้วยการนำกล่องฟิล์มมาทำเป็นจรวด เรียนรู้ปฏิกิริยาทางเคมีเกี่ยวกับเชื้อเพลิง นอกจากนี้น้องๆ จะได้ฝึกคิดและฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ จากการทดลองที่จับต้องได้จริงๆ ส่วนตัวผมเลือกเรียนสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เพราะอยากมีส่วนร่วมในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และยังได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เหมือนได้ช่วยดูแลโลกใบนี้ด้วย” นายดุลย เหมปฐวี วิศวกรสิ่งแวดล้อม หนึ่งในวิทยากรประจำฐาน กล่าว และสุดท้าย สถานีกล้าคิดลงมือทำ 3R เพื่อโลกสีเขียว “ปกติที่บ้านแยกขยะก่อนนำไปทิ้งอยู่แล้ว แยกขวด แยกขยะเปียก เมื่อก่อนรู้แค่ว่ามีการรณรงค์เรื่องขยะ เลยต้องคัดแยกขยะแต่พอมาทำกิจกรรมวันนี้เข้าใจชัดขึ้นว่า การคัดแยกขยะมีประโยชน์ต่อการนำไปกำจัด ลดปริมาณการใช้สิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ คุณแม่จะแนะนำเพื่อนบ้านให้หันมาคัดแยกขยะด้วย กลับไปครั้งนี้หนูก็จะไปแนะนำเพื่อนๆ ให้ใส่ใจของใช้รอบตัว ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ สิ่งต่างๆ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้วพัฒนาไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ค่ะ เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ควรเริ่มจากตัวเองก่อน ตรงนี้ก็อยากให้โรงงานในจังหวัดระยองที่ไม่มีระบบความปลอดภัยเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โรงงานกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างช่วยกัน” นางสาวธิดารัตน์ จงอุทัยไพศาล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนระยองวิทยาคม ปากน้ำ กล่าว ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมร่วมสนุกทั้ง 4 สถานีแล้ว ยังมีจุดเรียนรู้อิสระผ่านรถนิทรรศการเคลื่อนที่ “เปิดโลกก๊าซธรรมชาติ” และ “เปิดโลกปิโตรเลียม” เรียนรู้การกำเนิดของมหัศจรรย์แห่งพลังงานใต้พิภพที่สามารถขับเคลื่อนโลก ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมันดิบ สองขุมพลังสำคัญที่น่าพิศวง รวมถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นางนันทิยา เสวะกะ ครู คศ.2 อาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์-เคมี โรงเรียนวัดป่าประดู่ ซึ่งคอยสังเกตการทำกิจกรรมของน้องๆ กล่าวว่า “เด็กๆ ได้ร่วมสนุกกับการทดลองจริง แล้วก็เป็นความรู้ที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เหมือนเตรียมความพร้อมและแนะแนวการศึกษาของเด็กไปด้วย ถ้าเด็กคนไหนสนุกกับกิจกรรมตรงนี้ เขาก็น่าจะชอบและตัดสินใจเรียนสายวิทย์ได้ เท่าที่สังเกตเด็ก สนุกสนานกับการทำกิจกรรมมาก ถ้าเรียนในห้องจะง่วง คุยกัน ไม่มีสมาธิ แต่ที่นี่เด็กเป็นคนละคนเลย มาทำกิจกรรมครั้งนี้หลายคนกล้าแสดงออก กล้ายกมือตอบคำถาม” งานนี้นอกจากความรู้ ความสนุก และมิตรภาพที่น้องๆ ทั้ง 11 โรงเรียนได้มาทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว เชื่อว่าคงมีน้องๆ จำนวนไม่น้อยในที่นี้เติบโตขึ้นเป็นนักวิทย์รุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้วกลับมาดูแลบ้านของพวกเขา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ