กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ทช.
ชี้ประเทศไทยมีกำลังลมผลิตไฟฟ้า 1,600 เมกะวัตต์ เท่าโรงฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟู สำนักงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ร่วมกับ กองทัพบก และกองทุนสัตว์ป่าโลก ได้ทำโครงการ มาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน โดยอาศัยหลักการแก้ไขปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของการกลับคืนสู่สมดุลธรรมชาติ โดยใช้สถานตากอากาศบางปู กองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหาร เป็นสถานที่ดำเนินการทำกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม คือ 1. สร้างแนวตั้งรับการกัดเซาะชายฝั่ง 2.สร้างป่าชายเลนในแนวตั้งรับ 3.ทำพื้นที่บำบัดน้ำเสีย โดยใช้ต้นแบบจากโครงการแหลมผักเบี้ย โครงการในพระราชดำริ และ 4.การทำแผนงานสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาด
“ในส่วนของพลังงานสะอาดนั้น เราเลือกที่จะใช้กังหันลมมาผลิตพลังงานไฟฟ้า เพราะสถานที่ดังกล่าวมีการศึกษามาดีแล้วว่า มีศักยภาพพลังงานลมค่อนข้างสูง เพราะอยู่ติดทะเลได้เลือกติดตั้งกังหันลมขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 9 ตัว กังหันลมทั้ง 9 ตัว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ 45 กิโลวัตต์ ป้อนให้กองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารใช้ คาดว่าจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่ใช้ในกองฯได้ถึงครึ่งหนึ่งของที่เคยใช้เดิม” นายปิ่นสักก์ กล่าว
นาย ปิ่นสักก์ กล่าวว่า ขณะนี้โครงการเสร็จเกือบสมบูรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการทดลองระบบ ล่าสุดได้รับรายงงานว่า ระบบไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานลมจากกังหันลมนั้นระบบยังมีสะดุดบ้าง ตรวจสอบเบื้องต้นเข้าใจว่า เกิดจากระบบการจัดการไม่ใช่มาจากตัวกังหันลม ในส่วนของตัวกังหันลมนั้น ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีนกนางนวลจำนวนมาก เมื่อนกเกิดอาการแตกตื่นจะบินชนกังหันลมได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่จึงเปลี่ยนสีบริเวณตัวใบพัดเพื่อให้นกเห็นชัดจะได้ไม่บินชนอีก ในส่วนของภาพรวมทั้งหมดนั้นคาดว่าหลังจากแก้ไขเรื่องระบบไฟที่ยังสะดุดอยู่ บ้างได้แล้ว ทช.ก็จะส่งมอบโครงการให้ทางกองทัพบกไปบริหารจัดการด้วยตนเองได้อย่างสมบูรณ์ แบบ
นายศุกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงานและอุตสาหกรรม มูลนิธินโยบายและสุขภาวะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงว่าประเทศไทยจะสามารถนำสามารถผลิตพลังงานที่มาจากลม เป็นพลังงานทดแทนพลังงานจากถ่านหิน และการสร้างเขื่อน เวลานี้มีการสร้างผลิตพลังงานจากพลังงานลม 2 รูปแบบ คือ การสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ สูงตั้งแต่ 40 เมตรขึ้นไป ได้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ครึ่งเมกะวัตต์ ขึ้นไปใช้เงินลงทุนตัวละ 80 ล้านบาท และกังหันลมแบบชุมชน จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ประเทศไทยหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณริมฝั่งทะเลมีศักยภาพแห่งลมนข้างสูง ที่สำคัญคือ เป็นพลังงานที่สะอาด มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่ำมากเมื่อเทียบกับพลังงานที่ได้จากถ่านหิน และการสร้างเขื่อน
“เวลานี้มีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานของประเทศเริ่มทำโครงการสร้างพลังงานจากพลังงานลมแล้ว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าไปสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ 2 ตัวเสาสูงตัวละประมาณ 40 เมตร แต่ละตัวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1.5 เมกะวัตต์ ที่บริเวณเขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และมีโครงการจะสร้างเพิ่มอีก 12 ตัว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้ จ.นครราชสีมา ที่สำคัญคือ มีภาคเอกชนอีกหลายแห่งสนใจที่จะเข้ามาทำเรื่องนี้ จากการศึกษาเราพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมทั่วประเทศประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่ง” นายศุภกิจ กล่าว
นายศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับกังหันลมชุมชนนั้น เป็นกังหันขนาดเล็กสูงประมาณ 15 เมตร ชาวบ้านสามารถผลิตใบพัดเองได้ ตัวเสาเองได้ ลงทุนผลิตตัวละ 50,000 บาท สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3-5 กิโลวัตต์ มีหลายชุมชนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เช่น อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีกังหันลม 3 ตัว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับวิทยุชุมชนใช้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้ากระแสหลัก
“ปัญหา อย่างหนึ่งสำหรับประเทสไทยในการเอาพลังงานลมมาใช้คือ ช่องลม หรือพื้นที่ศักยภาพลมนั้นมักจะอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ การเข้าไปดำเนินการนั้น หากเป็นราชการด้วยกัน ต้องทำหนังสือขออนุญาต ในอนาคต กำลังคุยกันว่าระหว่างหน่วยงานราชการ ชุมชน บริษัทเอกชนที่ต้องการจะดำเนินการตรงนี้จะต้องมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ให้ มากกว่านี้” นายศุภกิจ กล่าว