กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
รมช.ศธ.ชี้จะสามารถแก้ปัญหาการขาดครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาได้ใน ระดับหนึ่ง โชว์ตัวเลขเล็งผลิตนักเรียนทุนในโคงการครูพันธุ์ใหม่แล้วอย่างน้อย 32,000 อัตรา บรรจุเป็นข้าราชการส่งตรงไปยังพื้นที่ขาดแคลน
การจัดงานกิจกรรมวิชาการเนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ครบรอบ 38 ปี วันนี้ (14 ม.ค.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง “แนวคิดและนโยบายการศึกษาของชาติ:ทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี” โดยกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ว่า มีอยู่ 3เรื่องหลัก คือ การสร้างคุณภาพทางการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษา และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นายชัยวุฒิ กล่าวถึงการสร้างคุณภาพการศึกษาว่า เป็นเรื่องใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษารอบนี้ที่อยากเห็นคนไทยยุคใหม่มีคุณภาพ โดยมีทั้งความเก่งและความดีอยู่ในตัว ส่วนคุณภาพครูยุคใหม่ก็ต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งครูปัจจุบัน ผู้บริหารที่มีอยู่กว่า 500,000 คนทั่วประเทศ รวมทั้งครูที่จะบรรจุใหม่ด้วย ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า เฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีครูเกษียณกว่า 200,000 คน ยังไม่นับการเกษียณอายุก่อนกำหนด ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องเสนอครม.และได้รับอนุมัติอัตราเกษียณคืน 100 % แล้ว
โครงการครูพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากครม.ให้ผลิตครู 30,000 คน ด้วยงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นทุรกันดาร ชายขอบ หรือในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งพื้นที่ที่ขาดแคลนนั้น รมช.ศธ. กล่าวว่า ในหลักการเบื้องต้นจะมีการสำรวจทั่วประเทศก่อนถึงความต้องว่าพื้นที่เหล่า นั้นขาดแคลนครูสาขาใด โรงเรียนไหน อย่างไร จึงจะมารับนักศึกษาสาขานั้นๆ โดยมีระเบียบให้ต้องไปสอนในพื้นที่ที่ขาดแคลน พูดง่ายๆ คือดูความต้องการและผลิตตามความต้องการ คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูไม่ตรงสาขาวิชาได้ระดับหนึ่ง
“ปีถัดไป จะเริ่มโครงการทดลอง 2,000 คนแรกต่อเนื่องจากโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้การผลิตนักเรียนทุนครูพันธุ์ใหม่มีแล้วอย่างน้อย 32,000 อัตรา”นายชัยวุฒิ กล่าว และว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมคุณภาพทางการศึกษา จากผลการประเมินที่ผ่านมา ทั้งจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ (สมศ.) โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA และหน่วยงานอื่นๆ พบว่า วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็น 2 สาขาที่นักเรียนไทยทำคะแนนได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งภาษาไทยด้วย ทำให้กระทรวงศึกษาธิการยุคนี้ มุ่งเน้นพื้นฐานภาษาไทยต้องดี ขณะที่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ขาดแคลนครูจำนวนมาก ขาดแคลนอุปกรณ์ หลักสูตร หรือการเรียนกาสอนอย่างเป็นระบบ ตรงจุดนี้ สสวท.จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
รมช.ศธ. กล่าวอีกว่า พื้นฐานการแข่งขันระหว่างประเทศ การพัฒนาประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญ ทำอย่างไรให้เด็กไทยเข้าใจในเหตุในผล คิดเป็นเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น อย่างน้อยสังคมไทยจะได้ลดละเลิกในสิ่งที่มองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ให้ลดน้อยลง และหากเราสามารถปลูกฝังเด็กและเยาวชน หรือคนไทยทั่วไปหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ที่มีทั้งเหตุและผลจะทำให้เรามองสิ่ง รอบตัวแบบมีเหตุมีผล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ต้องร่วมกันพัฒนา
สำหรับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในเรื่องการศึกษา รมช.ศธ.กล่าวว่า สำคัญสำหรับการศึกษายุคนี้ หากปล่อยให้เป็นของหน่วยงานราชการน่าจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ฉะนั้นการศึกษาต้องเปิดกว้างกับทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและดูแลการ ศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา องค์กรต่างๆหากเข้ามามีส่วนร่วมก็จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น