กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
ใช้งบไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 กว่า 8 พันล้านบาท ดำเนินการ 3 ปี รมว.ศธ.หวังผลสัมฤทธิ์จะตกกับเด็ก เพิ่มผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้สูงขึ้น
วันนี้ (8 ม.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนาม “ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เรื่องการอบรมพัฒนาครูทั้งระบบ” ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ.กล่าวถึงโครงการอบรมพัฒนาครูและผู้ บริหารสถานศึกษาครั้งนี้ว่า เป็นครั้งใหญ่ที่สุดของไทย เพราะอบรมพัฒนาครูทั้งระบบและครบทุกคน โดยเฉพาะครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งมีประมาณ 4.5 แสนคนทั่วประเทศ ใช้งบไทยเข้มแข็งระยะที่ 2 จำนวน 8,227 ล้านบาท โครงการนี้จะดำเนินการใน 3 ปี จะเริ่มอบรมบางส่วนตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.-พ.ค.นี้ จนจบโครงการในปี 2555 แบ่งเป็นการใช้งบประมาณดำเนินการในปี 2553 จำนวน 1,408 ล้านบาท ส่วนปี 2554 จำนวน 3,417 ล้านบาท และปี 2555 อีก 3,402 ล้านบาท
การอบรมจะเน้นอบรมทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และครูประจำวิชาควบคู่กัน เริ่มต้นด้วยการอบรมผอ.โรงเรียนทุกโรงเรียนจำนวน 31,000 คน พร้อมอบรม Master Teacher จาก 5 กลุ่มสาระหลักจำนวน 11,039 คน อบรมครูรายวิชาอื่นๆ 12,223 คน เช่น ครูแนะแนว, ครูบรรณารักษ์, ครูการศึกษาพิเศษ และครูประถมศึกษา และอบรมครูทั่วไปอีก 370,000 คน ในปีนี้จะมีจำนวนครูที่ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 435,000 คน ส่วนปี 2554 และปี 2555 นั้นจะเน้นอบรมรอง ผอ.โรงเรียน Master Teacher ครูเฉพาะวิชาที่ลดหลั่นกันไป
รมว.ศธ.กล่าวถึงขั้นตอนการอบรมว่า จะเริ่มจากประเมินครูในสมรรถนะและศักยภาพรายบุคคลก่อนว่าอยู่ในระดับใด แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ต้น กลาง สูง จากนั้นเข้าสู่การอบรมซึ่งมีรายละเอียดต่างกันตามระดับ อบรมเสร็จจะทดสอบรายบุคคลอีกครั้งใช้เกณฑ์มาตรฐานทดสอบอย่างเดียวกันพร้อม ให้คะแนน เพื่อให้มีความชัดเจนว่าใครผ่านการทดสอบในระดับใด พร้อมนำผลการอบรมนี้ไปใช้ประโยชน์ของครูแต่ละคนต่อไป เช่น ใช้ประกอบการประเมินวิทยฐานะ หรืออาจนำไปใช้ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภา เป็นต้น นอกจากนั้น จะใช้ระบบ e-Training เข้ามาเสริมโดยความร่วมมือจาก 3 หน่วยงาน คือ สพฐ. สสวท. และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 25 มหาวิทยาลัย ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นแกนหลัก มีศูนย์การอบรมฯ 25 ศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ส่วนการติดตามประเมินผลโครงการนั้น รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า อาจจะใช้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ประเมินผล เพราะสมศ.มีสำนักวิจัยพัฒนาคุณภาพ (สวพ.) ซึ่งจะช่วยให้โครงการนี้มีการติดตามตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกด้วย ทำให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีศักยภาพ มีการตรวจสอบประเมินผลครบทั้งวงจร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นสอนให้ เด็กคิด วิเคราะห์เป็น มากกว่าเน้นการท่องจำตามแนวทางหลักสูตรใหม่ปี 2553
“ดังนั้นทุกอย่างจะเดินไปในระบบเดียวกัน และสอดคล้องต้องกันทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อต้องการเพิ่ม ยกระดับ คุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยเริ่มต้นที่การยกระดับคุณภาพครู และยกระดับคุณภาพกระบวนการเรียนการสอน เนื้อหา สาระ หลักสูตร ในที่สุดหวังว่าผลสัมฤทธิ์ก็จะตกกับเด็กในทิศทางที่ดีขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้สูงขึ้น” รมว.ศธ.กล่าว