ปภ.ประสานจังหวัดวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

ข่าวทั่วไป Friday January 22, 2010 08:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ประจำปี 2553 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และแผนการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรฯโดยปฏิบัติตามมาตรการด้านการจัดสรรน้ำและมาตรการด้านการผลิตอย่างเคร่งครัด รณรงค์ให้ประชาชน เกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่และนโยบายที่จังหวัดกำหนดเพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำน้อย เป็นเหตุให้หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานในพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบนสถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ประจำปี 2553 ให้สอดคล้องกับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และนโยบายการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553 ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 12.27 ล้านไร่แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ พืชไร่และผัก 2.77 ล้านไร่ พร้อมจัดสรรการใช้น้ำตามความจำเป็น ดังนี้ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการประปา การรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำ การเกษตร และการอุตสาหกรรม รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการ ด้านต่างๆที่กำหนด ได้แก่ ด้านการจัดสรรน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ และกระจายน้ำให้พื้นที่เป้าหมายได้อย่างทั่วถึง โดยให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้านการผลิต กำหนดพื้นที่ทำนาปรังพร้อมขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังอย่างเข้มงวด ส่งเสริมขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชอื่นทดแทนข้าวนาปรัง โดยเฉพาะพืชไร่ พืชผัก พร้อมประสานภาคเอกชนด้านการตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร ด้านการประชาสัมพันธ์ เน้นการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ แผนการจัดการน้ำและแผนการเพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้ง รวมถึงรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด ไถกลบตอซังข้าว ฟางข้าวแทนการเผา โดยให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยางดการทำนาปรัง ตลอดจนขอความร่วมมือเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่และนโยบายที่จังหวัดกำหนด สุดท้ายนี้ หากทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ในระดับหนึ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ