กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
กองดุริยางค์ทหารเรือ กำหนดจัดพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์ ประจำปี ๒๕๔๙ ณ กองดุริยางค์ ทหารเรือ ถนนอิสรภาพ บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ เวลา ๐๙.๐๐ น.
การไหว้ครู นับเป็นสิ่งสำคัญของคนไทย ตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงนิสิตนักศึกษาและผู้ใหญ่ทั่วไป ผู้ที่ได้เล่าเรียนวิชาชีพอิสระหลายประเภท หรือประกอบกิจกรรมอย่างใดก็ตาม มักต้องมีการไหว้ครูทั้งสิ้น เพราะคนไทยยึดมั่นในความกตัญญูกตเวทิตาต่อบุพการีเป็นนิสัย โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ เรามักเคารพบูชาและระลึกถึงถ้ามีโอกาสก็มักจะตอบแทนบุญคุณเสมอตามฐานะและโอกาส เช่น ช่วยเหลือเงินทอง ช่วยเหลือ การงาน หากครูสิ้นชีพไปก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ หรือเชิดชูเกียรติคุณในสิ่งที่ได้กระทำให้แพร่หลาย เป็นต้น สำหรับการกระทำกตเวทิตาของศิษยที่มีอาชีพทางด้านศิลปะ จะมีการกระทำที่เรียกว่า "ไหว้ครู" และการไหว้ครูของศิลปะแต่ละประเภทก็มีพิธีการแตกต่างกันออกไปซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการไหว้ครูดนตรีเท่านั้น
การไหว้ครูดนตรีทหารเรือตามปกติจะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ในเย็นวันพุธ โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ รุ่งเช้าวันพฤหัสบดีถวายอาหารบิณฑบาต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นแล้วจึงเริ่มพิธีไหว้ครู การไหว้ครูดนตรีนับเป็นพิธีค่อนข้างใหญ่และสลับซับซ้อนมีหลายขั้นตอน สถานที่ประกอบพิธีจะต้อง กว้างพอที่จะตั้งพระพุทธรูป หน้าโขนหรือเศียรครู เทพยดา อันประกอบด้วย พระวิศณุกรรม ผู้เป็นนายช่าง ประสิทธิประสาทเครื่องดนตรีทั้งหลาย พระประคนธรรพและพระปัญจสิงขร ผู้เป็นนักดนตรีสำคัญ เครื่องดนตรีเครื่องบูชากระยาบวชที่นั่งผู้ร่วมพิธี และวงดนตรีที่จะบรรเลงในพิธี ส่วนเครื่องบูชากระยาบวช ก็จะประกอบด้วยดอกไม้ ธูป เทียน หัวหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ปลา บายศรีปากชาม ขนมต้มแดงต้มขาว และผลไม้ ต่าง ๆ ถ้าไหว้พระพิราพด้วย ก็จะมีเครื่องดิบอีก ๑ ชุด เหมือนกับเครื่องสุกดังที่กล่าวแล้ว โดยจะจัดมีเป็นคู่ หรือเพิ่มเติมอย่างไรก็ได้ อีกอย่างก็คือขันกำนล ประกอบด้วยขันล้างหน้าใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ผ้าขาวหรือ ผ้าเช็ดหน้า และเงินกำนล ซึ่งโบราณใช้ ๖ บาท ถ้ามีปี่พาทย์บรรเลงประกอบพิธี ผู้บรรเลงก็จะต้องมีขันกำนลทุกคน พิธีไหว้ครูดนตรีจะเริ่มด้วยครูผู้กระทำพิธีจะกล่าวโองการนำให้ผุ้ร่วมพิธีว่าตาม โดยเริ่มด้วยคำบูชา พระรัตนตรัย และไหว้ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ขอพรต่าง ๆ ตามแบบแผนที่ครูผู้กระทำพิธีแต่ละคนอาจ ผิดแผกแตกต่างกันไป ปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตามที่ครูผู้กระทำพิธีเรียก ต่อจากนั้นก็จะกล่าว ถวายเครื่องสังเวยเว้นระยะสักครู่หนึ่งก็จะลาเครื่องสังเวย จากนั้นครูผู้กระทำพิธีก็จะประพรมน้ำมนต์ และ เจิมเครื่องดนตรีและเศียรเทพยดาต่าง ๆ จนครบถ้วนแล้วจึงจะประพรมน้ำมนต์และเจิมให้แก่ศิษย์และผู้ร่วมพิธีเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำพิธี " ครอบ " โดยจะทำติดต่อกันไป สำหรับพิธีไหว้ครูดนตรีของกองดุริยางค์ทหารเรือนั้นปรากฏตามหลักฐานว่าเริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ โดยทูลกระหม่อมบริพัตร (จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) เป็นองค์ผู้ริเริ่มทำพิธี ซึ่งพระองค์ท่านและพระยาประสานดุริยศัพท์จะเป็นผู้อ่านโองการนำไหว้ครู จากนั้นก็ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันตลอดมาจนปัจจุบัน วัตถุประสงค์ในการจัดก็เพื่อให้ศิษย์ได้มีโอกาสมากราบไหว้ครูบาอาจารย์ เป็นการบำรุงขวัญของผู้ได้ร่วมพิธีในโอกาสเดียวกัน ซึ่งถือว่าครูบาอาจารย์จะช่วยดลจิตใจ และช่วยเป็นกำลังใจให้เจริญก้าวหน้าในการดนตรียิ่งขึ้น ๆ
ในระยะแรก ๆ พิธีไหว้ครูของกองดุริยางค์ทหารเรือ มักจะทำพิธีโดยให้ข้าราชการมารวมกันที่ห้องซ้อมดนตรีห้องใดห้องหนึ่งที่กว้างพอประมาณ และครูผู้กระทำพิธีก็คือผู้บังคับบัญชาที่มีอาวุโสจะกล่าวโองการ และกระทำพิธีต่าง ๆ จนเสร็จพิธีซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที เท่านั้น ต่อมาจึงเริ่มมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีพิธีสงฆ์ในเย็นวันพุธ บางครั้งก็จะมีการละเล่น เช่น ดนตรีหรือภาพยนตร์ เป็นการฉลองวันสุกดิบของพิธีไหว้ครู มีการตั้งโรงครัวประกอบอาหาร ตกแต่งสถานที่ให้ดูสวยงาม ส่วนข้าราชการดุริยางค์ที่อยู่ต่างจังหวัด ก็จะเดินทางเข้ามาในเย็นวันสุกดิบนั่นเอง ในระยะเวลาต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมโดยงดพิธีสงฆ์ ในวันพุธ มาเพิ่มพิธีสงฆ์ในเช้าวันพฤหัสบดี ซึ่งเมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้ว ก็เริ่มพิธีไหว้ครูดนตรีพอดี พิธีไหว้ครูดนตรีของกองดุริยางค์ทหารเรือ ในปัจจุบันจัดเป็นประจำทุกปี ในวันพฤหัสบดีที่ตรงหรือใกล้เคียงกับวันที่ ๑๐ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนากองดุริยางค์ทหารเรือ และหลังจากที่ได้รับการปรับปรุงอัตราเพิ่มเติมโดยให้มีอัตราชุดการแสดงนาฏศิลป์ขึ้น เมื่อปี ๒๕๓๑ การไหว้ครูกองดุริยางค์ทหารเรือจึงได้เปลี่ยนมาเป็น "ไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์" หลังจากเสร็จพิธีไหว้ครูแล้วจะมีการรับประทานอาหาร ร่วมกัน ร่วมทั้งมีการแสดงและบรรเลงดนตรี โดยข้าราชการ นักเรียนดุริยางค์ ศิษย์เก่า และนักดนตรีรับเชิญ นับเป็นการสมัครสมานสามัคคีของคนสถาบันเดียวกันและอาชีพเดียวกันอย่างดียิ่ง
(ที่มา:http://www.navy.mi.th/musicdiv/wikru.htm)