กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--สวทช.
สวทช. จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าพัฒนากระบวนการเคลือบสีแล็กเกอร์ สำหรับ “ รูปภาพต่อลายจากไม้วีเนียร์” ผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท สยามวู้ดแลนด์ จำกัด ที่นำเศษไม้วีเนียร์เหลือทิ้งมาผลิต เป็นงานแฮนด์เมด สู่รูปแบบศิลปะการต่อลายภาพที่เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์พร้อมแนะนำเทคนิคการทำสีอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นมลภาวะต่อคนและสิ่งแวดล้อม
นาย ศิริ ศิริวงศ์วัฒนา ผู้จัดการ บริษัท สยามวู้ดแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุตกแต่งภายใน และวัสดุที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้แบรนด์ SW เปิดเผยว่า เดิมทีครอบครัวทำธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปเกี่ยวกับวัสดุตกแต่งภายในที่นำเข้าจากหลากหลายประเทศมาก่อน จากนั้นได้เปลี่ยนจากผู้ซื้อมาเป็นผู้ผลิต โดยในปี 2537 ได้จัดตั้งเป็นบริษัทฯ ขึ้น และได้ก่อตั้งโรงงานปิดผิวไม้วีเนียร์ โดยการแปรรูปวัตถุดิบจากไม้ท่อนเป็นไม้บาง นำมาปิดผิวสำหรับการทำงานเฟอร์นิเจอร์ แทนการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปแต่เพียงอย่างเดียว ต่อมาในปี 2540 ได้ก่อตั้งโรงงานปิดผิวแผ่นพลาสติกลามิเนต หรือ แผ่น High Pressure Laminate ( HPL) ขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยบริษัทนำเข้าแผ่นพลาสติกลามิเนต เพื่อนำมาปิดผิวบนหน้างานผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสามารถดัดโค้งตัวแผ่นลามิเนตเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งาน และความสวยงาม สำหรับปิดผิวบนหน้างานต่างๆ อาทิ บนหน้าโต๊ะ , หน้าเค้าท์เตอร์ , หน้าบานตู้ และ ผนัง เป็นต้น ซึ่งงานดังกล่าวถือเป็นส่วนประกอบสำหรับการทำเฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยให้การทำงานของช่างทำงานได้ง่ายขึ้น
“ ในระยะหลังมานี้ บ้านเราเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นกับงานออกแบบและงานตกแต่ง จากเมื่อก่อนงานประเภทตกแต่งภายในมักจะมีรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากนัก พอมีการสนับสนุนเรื่องของการออกแบบมากขึ้น ทำให้เริ่มมีวัสดุใหม่ๆ ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งลูกค้าหลักของบริษัทฯ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าในกลุ่มงานโครงการโรงแรม อาคารสำนักงาน หมู่บ้าน โดยผ่านมัณฑนากร นักออกแบบ ผู้รับเหมา และร้านค้าวัสดุตกแต่งภายในที่มีเพิ่มมากขึ้น ”
นายศิริ กล่าวอีกว่า “แม้สถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะชะลอตัวไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลประกอบการของบริษัทฯ ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งดูได้จากยอดขายที่ผ่านมาของบริษัทฯ เรียกได้ว่า ทรงตัว และเมื่อเทียบยอดขายของปี 2549 กับปี 2548 ก็ไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่ถ้าเทียบยอดขายระหว่างปีที่แล้วกับปีก่อนหน้านั้น จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทมีการเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาให้ลูกค้าเลือกมากขึ้น ”
ทั้งนี้ แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทนั้น นายศิริ เล่าว่า “เกิดขึ้นหลังจากที่ได้เข้าร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการเดินทางไปเสาะหาเทคโนโลยีในต่างประเทศเมื่อปี 2547 โดยในครั้งนั้นได้ไปเยี่ยมชมดูงานการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการแปรรูปไม้ ไปจนถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ที่ประเทศจีน และไต้หวัน ทำให้บริษัทฯ ได้เปิดหูเปิดตาเปิดมุมมองที่กว้างขึ้น ได้รู้สถานการณ์และแนวโน้มในด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญยังได้พันธมิตรซึ่งเป็นผู้ประกอบการในวงการเดียวกันกลับมาด้วย ซึ่งหลังจากการไปดูงานครั้งนั้น บริษัทฯได้นำกลับมาวางแผนสำหรับการก้าวเดินต่อไปของบริษัทในอนาคตว่าจะไปทางไหน ”
จากนั้นในปี 2548 บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “ รูปภาพต่อลาย หรือ ผลิตภัณฑ์ต่อลายจากไม้วีเนียร์ ” โดยการนำเศษไม้วีเนียร์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตงานปิดผิว มาตัด และต่อเป็นรูปภาพ ซึ่งเป็นลักษณะของงานศิลปะอย่างหนึ่ง ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษไม้เหลือทิ้งได้ ดังนั้น ทางบริษัทฯ ต้องพัฒนาห้องพ่นสีที่ได้มาตรฐานจึงได้เข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP (สวทช.) ในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและออกแบบห้องพ่นสีภายใต้ชื่อ “โครงการการพัฒนาการทำ line สี ” สำหรับทำงานเคลือบผิวหน้าไม้ดังกล่าว
เนื่องจากการทำรูปภาพต่อลายจะต้องมีการเคลือบผิวหน้า จำเป็นต้องมีห้องเฉพาะเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และควบคุมอุณหภูมิความชื้นของห้องให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้การผลิตงานออกมาได้คุณภาพไม่เกิดปัญหาเรื่องของฟองอากาศ และฝุ่นละอองจับ จึงได้ปรับปรุงและพัฒนาห้องพ่นสีจากแผนกทำสีที่มีอยู่เดิมมาเป็นการวางระบบการทำ line สีที่เหมาะสม จากเดิมที่มีลักษณะเปิดโล่งมาเป็นระบบปิด และมีระบบควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยทางผู้เชี่ยวชาญได้ออกแบบม่านกั้นเพื่อป้องกันฝุ่นละอองจากภายนอก ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาบู้ทม่านน้ำ เพื่อดูดสารระเหยที่เกิดจากละอองสีเข้าไปเกาะอยู่ที่ตัวน้ำ และใช้น้ำชะล้างสารเคมีเข้าไปบำบัดในถังบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกและนำกลับมาใช้ใหม่ และติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ 4 ตัว เป่าลมเข้าไปภายในห้องจากบนเพดาน เพื่อให้ฝุ่นถูกกดลงไปด้านล่าง และไม่ฟุ้งลอยขึ้นมาเกาะชิ้นงานได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นมลภาวะต่อผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การทำสีมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังได้แนะนำเทคนิคการทำสีที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับบุคลากรของบริษัทอีกด้วย
ปัจจุบันบริษัทฯ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ต่อลายที่สวยงาม และได้คุณภาพเป็นที่น่าพอใจ อาทิ ภาพต่อลายวัดพระแก้ว , ภาพต่อลายวัดอรุณฯ , ภาพต่อลายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ , ภาพต่อลายสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ฯลฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยบริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วยวางแผนด้านการตลาด และได้เข้าร่วมในโครงการ OTOP เพื่อให้เป็นช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้ขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์มากขึ้น และตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเพียงเวียดนาม , ปากีสถาน และพม่า ซึ่งยังมีสัดส่วนน้อยมากไม่ถึง 1% คาดว่า จะสามารถขยายตลาดส่งออกได้อย่างเร็วภายในปี 2550 นี้ หรือ อย่างช้าในอีก 2 ปีข้างหน้า
สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2550 ได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 350 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้วีเนียร์ , กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิดผิวแผ่นพลาสติกลามิเนต และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อลาย ซึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อลายหรือรูปภาพต่อลายจากไม้วีเนียร์นี้ ได้ตั้งยอดขายไว้เพียง 1 ล้านบาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีข้อจำกัดในการผลิตเนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมด 100% ประกอบกับเป็นงานที่มีความหลากหลายของรูปแบบ มีรายละเอียดความยากง่ายของภาพที่ทำให้เกิดมิติ จึงต้องใช้ระยะเวลา ในส่วนของผลประกอบการที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท โดย 50 %ของยอดขายทั้งหมดมาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มไม้วีเนียร์
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก รวมถึงการพัฒนาเรื่องของคุณภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตของบริษัท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำระบบคุณภาพพื้นฐานของไทย หรือ Thai Foundation Quality System : TFQS กับทางโครงการ iTAP (สวทช.) เชื่อว่า หลังดำเนินการจัดทำระบบคุณภาพดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้บริษัทฯ มีมาตรฐานในการรักษาคุณภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ทั้งการผลิตและการส่งมอบสินค้า
สำหรับผลิตภัณฑ์ต่อลาย หรือ ภาพต่อลายจากไม้วีเนียร์นั้น ราคาขึ้นอยู่ที่ความยากง่าย และรายละเอียดของภาพ สนนราคาตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักหมื่นบาท ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท สยามวู้ดแลนด์ จำกัด โทร. 0-2987-9020-30 หรือที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ www.siamwoodland.com
ส่วนผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ 115
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net