กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 3) ประจำปี พ.ศ. 2553 มีการเสนอญัตติของนาย สมชาย เวสารัชตระกูล ส.ก.เขตสายไหม เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาในเขตพื้นที่คู คลองของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัจจุบันพบปัญหาจำนวนผักตบชวาที่มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ เพราะกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ลุ่ม มีแม่น้ำ คู คลอง ประชาชนใช้ในการสัญจรและเป็นทางระบายน้ำ แต่ในสภาพปัจจุบันมีผักตบชวาวากระจายอยู่ในแม่น้ำ คู คลอง เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ผักตบชวาจะไหลตามกระแสน้ำมาจากทางเหนือ และจะกระจายออกสู่คู คลองต่างๆ เมื่อสะสมอยู่เป็นเวลานานจะทำให้คลองมีสภาพตื้นเขิน รวมทั้งทำให้น้ำในบริเวณนั้นเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการคมนาคมทางน้ำทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่ กรุงเทพมหานครควรที่จะดำเนินการเพื่อให้แม่น้ำ คู คลองมีการระบายน้ำที่ดีขึ้น
ด้าน นางกนกนุช นาคสุวรรณ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า การแก้ปัญหาผักตบชวาเป็นเรื่องที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะต้องเร่งสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำชับให้ 50 สำนักงานเขต จัดเจ้าหน้าที่ในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบอุดตันทางเดินระบายน้ำได้ อีกทั้งหากมีฝนตกหนักจะเป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทันท่วงที อาจจะสร้างความเดือดร้อนจากน้ำท่วมให้กับประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ทั้งผักตบชวายังกักขังสิ่งปฏิกูลที่ไหลมาตามน้ำ และทำให้สภาพน้ำไม่สามารถไหลเวียนและขาดออกซิเจนทำให้มีกลิ่นเน่าเหม็นได้ ทั้งนี้ผู้บริหารควรเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะจัดซื้อเรือ 30 ล้านบาท และรถเครน 24 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงการจัดเก็บผักตบชวาอีกด้วย นอกจากนี้กรุงเทพมหานครมีแผนในการทำความสะอาด แม่น้ำ คู คลอง และอนุรักษ์พิทักษ์สายน้ำ เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่มี แม่น้ำ คู คลองที่ใสสะอาด และถือเป็นการคืนชีวิตให้กับชุมชนที่พักอาศัยในริมแม่น้ำ คู คลอง ต่างๆ รวมถึงมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครพร้อมที่จะนำข้อแนะนำของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไปดำเนินการแก้ไขในจุดที่มีปัญหาและเร่งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาที่กำลังมีปริมาณที่มากขึ้น นอกจากนี้กรุงเทพมหานครมีโครงการที่จะจัดเก็บผักตบชวาเบื้องต้น จำนวน 30 ตัน เพื่อนำมาแปรสภาพเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปอีกด้วย
ทั้งนี้ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบในข้อบัญญัติดังกล่าว และนำเสนอต่อคณะผู้บริหารเพื่อดำเนินการต่อไป