กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--โรงพยาบาลกรุงเทพ
หากชีวิตประจำวันของคุณคือนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน และห่างไกลการออกกำลังกายเป็นประจำ การมีอาการปวดร้าวตามแขน ขา บ่า ไหล่ ที่ไม่หายขาด อาจจะเป็นสาเหตุของโรค “ออฟฟิต ซินโดรม” (Office Syndrome) ซึ่งเจ้าโรคมนุษย์ทำงานเนี่ย มักจะเกิดกับคนทำงานออฟฟิศที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม จำพวกนั่งจุมปุ้กอุดอู้อยู่หน้าคอมเป็นเวลานานๆ ไม่ได้ขยับออกไปไหนเป็นชั่วโมงๆ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยตามแขน ขา หลัง ไหล่ และอาการยอดฮิตคือปวดหลัง รองลงมาคือ ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหัว ซึ่งเชื่อว่าเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้าโรคออฟฟิสซินโดรมนี่หล่ะ มนุษย์ทำงานวัย 16-24 ปี ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้มากถึง 55% โดยเฉพาะสาวออฟฟิตทั้งหลาย เสี่ยงกว่าผู้ชายด้วย แถมไม่น่าเชื่อว่าเจ้าโรคนี้จะทำให้เกิดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศตามมาอีกด้วย
อาการปวดร้าวไปตามแขน ขา หลายครั้งพบว่าเกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปัญหา การหดเกร็งของกล้ามเนื้อแบบ Office Syndrome ซึ่งเป็นโรคของคนเมือง ที่ทำงานออฟฟิศขะมักเขม้น ไม่ได้ออกกำลังกาย คุณภาพชีวิตไม่ดี พักผ่อนน้อย อาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อนี้ อาจจะรุนแรงน้อยหรือทรมานมาก และยาแก้ปวดก็ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ เนื่องจากการปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งตัวนี้ มีอาการคล้ายกับกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรืออาจพบทั้งสองโรคพร้อมกัน เนื่องจากปัญหาของกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังนั้นมีความสัมพันธ์กัน
โรคกระดูกสันหลังที่สามารถกดทับเส้นประสาทที่พบบ่อยในคนทำงาน และมักจะถูกวินิจฉัยบ่อยๆได้แก่ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้น (HNP) ช่องกระดูกเสื่อมตีบทับเส้นประสาท (Spinal Stenosis) กระดูกเสื่อมทับไขสันหลังส่วนคอ (CSM) หมอนรองกระดูกเอวเสื่อม (DDD) กระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนทับเส้น เป็นต้น
และที่สำคัญ ความผิดปกติอย่างหนึ่งของผู้มีกระดูกสันหลังเบียดทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย นอกจากปัญหาปวดคอ ปวดหลังแล้ว สิ่งที่คนมักมองข้ามไป คือ ปัญหาเรื่องการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทั้งหญิงและชาย โดยอาจเกิดขึ้นจาก ความเจ็บปวดของเส้นประสาท ทำให้ลดความรู้สึกลง หรือ ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เนื่องจากการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยมักจะมีอาการหย่อนสมรรถนะทางเพศแบบแฝงอยู่ได้ ทั้ง ไม่มีอารมณ์ นกเขาไม่ขัน หลั่งเร็วหรือช้าผิดปกติ และอื่นๆอีก สาเหตุเพราะกระดูกสันหลัง เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆมากมาย เลี้ยงการทำงานของแขน ขา และ อวัยวะต่างๆในร่างกาย รวมทั้งควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ความรู้สึกต่างๆในร่างกายด้วย ดังนั้น ในกรณีที่มีการทำลายของการทำงานระบบไขสันหลัง หรือ การรบกวนการทำงานของ ไขสันหลัง จึงส่งผลทำให้เกิดการอ่อนแรงของแขนขา หรือแม้แต่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ แถมทางแก้นั้น นอกจากจะรักษาปัญหากระดูกสันหลังแล้ว ยังช่วยให้ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศดีขึ้นอีกด้วย การแก้ไขมีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดในกรณีของออฟฟิตซินโดรมและสำหรับการรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคทางกระดูกสันหลังนั้น ยังสามารถรักษาได้โดย “การผ่าตัด” อาทิ ผ่าหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็ก (Microdiscectomy) ผ่าตัดขยายช่องทางออกของเส้นประสาท (Laminectomy) การผ่าตัดเชื่อมข้อที่คอด้านหน้า (Cervical Fusion) เป็นต้น ซึ่งแนวทางการผ่าตัดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความ ชำนาญของแพทย์เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย” ซึ่งจากการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า ภายหลังจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะการกดทับไขสันหลังส่วนคอ (Cervical cord decompression) ไป ผู้ป่วยทั้งหมดนอกจากจะดีขึ้นจากอาการอ่อนแรงของแขน หรือ ขา แล้ว ยังมีผลพลอยได้ทำให้ปัญหาการมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Sexual dysfunction) ดีขึ้นได้ โดยเฉลี่ยแล้ว ทำให้ดีขึ้นได้มากกว่าสองเท่าจากเดิม ผลลัพธ์นี้นับว่าเป็นของแถมที่ได้จากการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง แต่ถ้าเกิดสงสัยว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่าก็สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ก่อนที่จะสายเกินแก้ หรือถ้าจะให้ดีที่สุด ควรหันมาใส่ใจ และป้องกันกันดีกว่า เรียกว่า กันไว้ดีกว่าแก้ยังใช้ได้ดีเลยหล่ะ อย่างเช่น จัดข้าวของบนโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ ย้ายข้าวของรกๆมาวางทางซ้ายมือซะ ให้ทางขวาปล่อยโล่งเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวหยิบจับสิ่งของ โต๊ะทำงานควรมีระดับพอดีกับข้อศอก จะได้กดคีย์บอร์ดถนัดๆ ตัวคีย์บอร์ดควรมีแป้นรองข้อมือ เก้าอี้นั่งควรเป็นแบบที่ปรับขึ้นลงได้ และมีพนักพิงรองรับศีรษะ จอคอมพิวเตอร์ควรเลือกใช้แบบจอแบน LCD มากกว่าจอแก้ว CRT เพราะจอลักษณะโค้งมนจะทำให้ต้องเพ่งสายตามากกว่าจอแบน ที่สำคัญคือปรับนิสัยตัวเอง ถ้ารู้ตัวว่านั่งหลังค่อมก็ต้องนั่งหลังตรง หมั่นหยุดพักสายตา ลุกไปยืดเส้นยืดสายทุกๆครึ่งชั่วโมง เพื่อลดอาการ ตาแห้ง น้ำตาไหล เคืองตา ตามัว ปรับภาพได้ช้าลง ซึ่งเกิดจากการนั่งจ้องคอมเป็นเวลานานๆ ทำให้กระพริบตาน้อย ประกอบกับสภาพอากาศในห้องแอร์แห้งๆ ส่งผลให้น้ำตาระเหยมาก ทำให้เคืองตา ตาแห้ง ยิ่งนั่งจ้องข้อมูลบนจอเป็นพรืด ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานหนัก ควรหยุดพักสายตาเป็นระยะทุกๆ 20 นาที หรือลุกออกไปเดินเล่นทุก 1 ชั่วโมง และควรจัดจอคอมพิวเตอร์ ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศา เพื่อลดอาการปวดตาปวดคอ ควรปรับแสงสว่างคอมพิวเตอร์ให้มากประมาณ 3 เท่าของความสว่างของสภาพแวดล้อม
สนับสนุนข้อมูลโดย สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719