กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 นี้ การดำเนินงานตามแผนพัฒนาธุรกิจตลาดทุนด้านอุปสงค์และอุปทานของตลาด หลักทรัพย์ฯ เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายเพิ่มสูงกว่าเป้าหมาย
“ด้านอุปสงค์ (Demand ) หรือการขยายฐานผู้ลงทุนนั้น มีบัญชีที่มีการซื้อขายจำนวน 138,404 บัญชี ซึ่งสูงกว่าที่เป้าหมายกำหนดไว้ที่ 125,000 บัญชีเมื่อสิ้นปี 2548 ในขณะที่จำนวนผู้ลงทุนที่เปิดบัญชี เพิ่มมากขึ้นเป็น 415,990 บัญชี ณ 28 กุมภาพันธ์ 2548 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 500,000 บัญชีเมื่อสิ้นปี 2548”
ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมาพบว่าสูงถึงวันละ 23,989 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดที่ 24,000 ล้านบาท และสูงกว่าปี 2547 ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 20,508 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับเป้าหมายจำนวนผู้ถือหุ้น 902,300 รายนั้น ปรากฏว่า เมื่อสิ้นสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน ผู้ถือหุ้นมีถึง 878,813 ราย และคาดว่าจะมีตัวเลขสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับจำนวนของผู้ลงทุนในกองทุนประเภทต่าง ๆ ซึ่งสถิติในปี 2547 นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุน ถึง837,877 ราย ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2546 ถึงร้อยละ 34
นางสาวโสภาวดีกล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายด้านอุปทาน คือด้านการเพิ่มสินค้า (Supply) ซึ่งตั้ง เป้าหมายที่จะรับบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่จำนวน 60 บริษัทนั้น พบว่า ณ 28 กุมภาพันธ์ 2548 นี้มีบริษัทเข้าจดทะเบียนแล้วจำนวน 10 บริษัท และยังมีบริษัทที่จะยื่นจดทะเบียนอีก 100 บริษัท เพื่อรับสิทธิพิเศษส่วนลดภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 25 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจะให้สิทธิแก่บริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียนและได้รับอนุมัติเป็นบริษัทจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 นี้
“เชื่อว่าบริษัทที่ได้ยื่นคำขอไว้แล้วน่าจะเข้าซื้อขายได้ทันในปีนี้ จึงคาดว่าน่าจะมีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้” นางสาวโสภาวดีกล่าว
ในขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งเสริมให้การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มี สภาพคล่อง โดยการแนะนำให้บริษัทจดทะเบียนใช้วิธีการแตกพาร์ หรือจ่ายหุ้นปันผลมากขึ้น และอยู่ระหว่างการศึกษาและประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำระบบให้มี “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” มาใช้ในการเสริมสภาพคล่องด้วย ที่สำคัญจะเน้นส่งเสริมบรรษัทภิบาลบริษัทจดทะเบียนเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์ให้บริษัทจดทะเบียนมีการปรับปรุงเกี่ยวกับบทบาทผู้มีส่วนได้เสีย และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ด้วยการให้ความรู้แก่กรรมการ จัด Workshop เพื่อให้แนวทางที่นำไปปฏิบัติได้เป็นรูปธรรม รวมทั้งแนะแนวการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวในรายงานประจำปีให้มีความ ชัดเจนขึ้นทั้งนี้ในไตรมาสแรก “ศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน” ได้เข้าพบและให้ คำปรึกษาแก่บริษัทต่าง ๆ แล้วจำนวน 13 แห่ง และได้สนับสนุนให้กรรมการเข้าอบรมหลักสูตร DAP (Directors Accreditation Program) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ไปแล้วมากกว่า 200 คน
“ในปี 2548 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งเป้าที่จะยกระดับบรรษัทภิบาลบริษัทจดทะเบียนของไทยให้
เทียบเคียงสากล โดยจะปรับระดับคะแนนผลประเมินระดับบรรษัทภิบาลให้มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะปรับระดับคะแนนของบริษัทใน SET50 จากคะแนน 65 เป็น 70 จาก 100 คะแนน และบริษัทอื่น ๆ จาก 60 เป็น 65 คะแนนจาก 100 คะแนน” นางสาวโสภาวดีกล่าว
สำหรับผลการศึกษาสถานะของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันร้อยละ 85 สามารถปฏิบัติตามหลักการ ส่วนใหญ่ของ 15 ข้อได้แล้ว ทั้งนี้ “ศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน” ได้ส่งเสริมบรรษัทภิบาลที่ดีด้วยการยกย่องและให้แรงจูงใจ โดยในปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯได้ลดค่าธรรมเนียมรายปีร้อยละ 50 ต่อเนื่อง 2 ปีให้บริษัทที่ได้คะแนนการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไปจาก 10 คะแนน โดยได้ขยายเวลาให้สิทธิแก่บริษัทจดทะเบียนที่เข้ารับการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้แก่บริษัทที่ยื่นความจำนงเข้ารับการจัดอันดับภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนอย่าง ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมอบรางวัล Best Corporate Governance Report ให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่นำ หลักการบรรษัทภิบาลที่ดีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้นไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย--จบ--