สกว.วางกลยุทธ์งานวิจัยหนุนอาชีพทางเลือกเพื่อเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Friday November 3, 2006 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เร่งแก้ปัญหาความยากจน ตามยุทธศาสตร์ของชาติ โดยวางกลยุทธ์งานวิจัยสนับสนุนอาชีพทางเลือกเพื่อเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นยูคาลิปตัสบนคันนา, เลี้ยงไหมอีรี่ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง , และปลูกหญ้าแพงโกล่าในเขตชลประทาน เป็นทางเลือกใหม่ หวังช่วยเหลือเกษตกรในภาวะราคาผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ราคามิได้ขยับขึ้นตามต้นทุนการผลิตและภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า สกว. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์ของชาติ โดยเฉพาะเรื่องความยากจน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ กลยุทธ์ที่วางไว้คืองานวิจัยหนุนอาชีพทางเลือกโดยมุ่งเน้นไปที่ภาคเกษตรกรก่อน เนื่องจากเกษตรกรมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่ยากจน การวางกลยุทธ์งานวิจัยหนุนอาชีพทางเลือกจึงมีความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาด้อยโอกาสทางการแข่งขัน ซึ่งเสียเปรียบทั้งเรื่องต้นทุน ราคาสินค้า จากนโยบายเปิดเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศจีน สินค้าที่เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบมากที่สุด คือพืชผัก ผลไม้ ซึ่งยังเสียเปรียบในเรื่องราคา ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศจีนได้ ปัญหาที่ตามมาคือรายได้ของเกษตรกรลดลง
สำหรับบทบาทของสกว. กับการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร ตามกลยุทธ์งานวิจัยหนุนอาชีพทางเลือกเพื่อเกษตรกรดังกล่าว เป็นการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วจากการสนับสนุนงานวิจัยมาทำงานร่วมกับเกษตรกร เช่น หากผลงานวิจัยใดบ่งชี้ว่า พื้นที่ในจังหวัดนั้น ๆ ไม่เหมาะสมที่จะปลูกข้าว เกษตรกรก็ยังมีทางเลือกที่จะหันไปปลูกหญ้าแพงโกล่าเป็นอาชีพเสริมแทน นอกจากนี้การปลูกพืชมันสำปะหลัง โดยพบว่าปัจจุบัน เกษตรกรมีแนวโน้มปลูกพืชมันสำปะหลังมากขึ้น เนื่องจากเป้นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สกว. ได้ริเริ่มส่งเสริมงานวิจัยเลี้ยงไหมอีรี่ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เป็นอาชีพเสริม ซึ่งจะเป็นการช่วยดึงคนในพื้นที่ให้อยู่ที่เดิม ไม่ต้องออกมาหางานทำในเมืองใหญ่ เป็นการช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อีกทางหนึ่ง
“ นอกจากนี้ การปลูกไม้โตเร็วบนคันนา พืชที่ปลูกได้ดีคือ ยูคาลิปตัส เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า การปลูกพืชชนิดนี้บนคันนาไม่ได้ทำให้ผลผลิตการปลูกข้าวลดลงแต่อย่างใด เพราะยูคาลิปตัสเป็นพืชชนิดใบโปร่ง มีลำต้นสูง จึงไม่คลุมนา เมื่อต้นยูคาลิปตัสโตสามารถตัดขายเพื่อไปทำเยื่อกระดาษได้ราคาดี โดยทุกอาชีพเสริมที่กล่าวมา ดำเนินการภายใต้กระบวนการวิจัยการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ซึ่งล้วนเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการแก้ปัญหาความยากจนตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นอาชีพเสริมให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ” ศ.ดร ปิยะวัติ กล่าว
รศ.ดร. จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเสริมว่า กลยุทธ์งานวิจัยสนับสนุนอาชีพทางเลือกเพื่อเกษตรกรมีวิธีการทำงาน มุ่งเน้นนำความรู้ที่มีอยู่หลาย ๆ ด้านมาประกอบเป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมที่เหมาะสม โดยพิจารณาว่า อาชีพเสริมที่จะแนะนำนั้นมีความเหมาะสมกับเกษตรกรรายนั้น ๆ หรือไม่ และเกษตรกรเองมีขีดความสามารถที่จะปรับตัวรับกับสินค้าใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งหากเกษตรกรยอมรับได้ทั้งสองส่วนนี้แล้ว สกว. ก็จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คือ ประเมินพื้นที่ที่เหมาะสม กรอบการผลิตที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนอาชีพทางเลือกแก่เกษตรกร อาชีพทางเลือกเพื่อเกษตรกรที่สกว. กำลังดำเนินการอยู่ อาทิ ไหมอีรี่, ปูม้า, ผักปลอดภัย, เมล็ดพันธุ์ข้าว, หญ้าแพงโกล่า
“ กระบวนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการแนะนำอาชีพทางเลือกเพื่อเกษตรกร สามารถวัดผลได้ โดยดูจากรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเพิ่มขึ้น เกษตรกรเองมีความพึงพอใจในขบวนการมีส่วนร่วมจากการทำงาน ที่สำคัญประโยชน์ที่ได้รับจากการสนับสนุนอาชีพทางเลือกดังกล่าว ได้ส่งผลย้อนกลับขึ้นไปในระดับนโยบาย ระดับนโยบายสามารถที่จะปรับงบประมาณ หรือปรับวิธีการดำเนินงาน เนื่องจากเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนอาชีพทางเลือกเพื่อเกษตรกร คงไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีอีกหลายผลงานวิจัยที่จะมาเป็นอาชีพเสริมให้เกษตรกรได้ งานวิจัยอาชีพทางเลือกที่จะดำเนินการต่อไป เช่น ส่งเสริมอาชีพโคเลี้ยง , และพริก ซึ่งสกว. กำลังศึกษาอยู่ในบางพื้นที่ ” รศ.ดร.จันทร์จรัส กล่าว
ด้านรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า อาชีพทางเลือกที่เห็นผลชัดเจนขณะนี้ คือ การปลูกไม้โตเร็วบนคันนา หรือการปลูกต้นยูคาลิปตัส ในพื้นที่ส่งเสริมที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งงานวิจัยตัวนี้ สกว.ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิสูจน์แล้วพบว่า ปลูกต้นยูคาลิปตัสบนคันนาไม่มีผลกระทบต่อการทำนา ไม่ทำให้ดินเสีย แต่กลับสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 5,000 บาท/ไร่/ปี หลังจากปลูกพันธุ์ไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาไปแล้ว 4-5 ปี ด้วยการตัดลำต้นขาย
สำหรับประโยชน์ของการปลูกไม้ยูคาลิปตัสอีกประการ เป็นการลดการไหล่บ่าของผิวดิน และลดการสูญเสียของดิน เนื่องจากยูคาลิปตัสมีประสิทธิภาพมากในการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารจากดิน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์, ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทร 0-2439-4600 ต่อ8203
มือถือ 0-1668-9239
อีเมล์ paricharts@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ