การทดสอบระบบแนะนำแผนท่องเที่ยวด้วยสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์

ข่าวท่องเที่ยว Monday January 25, 2010 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--เนคเทค กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทย์ฯ ททท. เปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองใช้งานระบบแนะนำแผนท่องเที่ยวด้วยสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์“ไปเป้ : www.pi-pe.org” ผลงานที่เกิดจากความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรมและฐานข้อมูลชุมชน เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งเสริมสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ไปเป้ : www.pi-pe.org” ภายใต้แนวคิดไปเที่ยวไหนๆได้อิสระ แบกเป้ใบเดียวก็สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งกำลังเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆในยุคการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าการวางแผนการท่องเที่ยวที่ไหนซักแห่งมีปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าข้อมูลซึ่งอาจจะกระจายอยู่หลายแห่ง การหาเส้นทางขับขี่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งหรือในระหว่างการเดินทางนั้น สถานที่ๆต้องการไปปิด หรือมีการเปลี่ยนเส้นทางระหว่างการท่องเที่ยว ระบบแนะนำแผนที่ท่องเที่ยวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยรวมรวบจุดพิกัดพร้อมข้อมูลท่องเที่ยว ผู้ใช้สามารถเลือกประเภทสถานที่ที่ต้องการจะไปและกำหนดจำนวนวัน โดยระบบจะทำการคำนวณตารางการเดินทางในด้านเวลาว่าควรใช้เวลากับแต่ละสถานที่มากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งเส้นทางขับขี่ ตารางการเดินทางนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาทางมือถือ และเว็บไซต์ หลังจากท่องเที่ยวกลับมาแล้วผู้ใช้สามารถทำการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงเลือกสั่งซื้อสินค้าทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ๆ ได้ไปมาแล้วอีกด้วย ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย เนคเทค ให้วิจัยพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งระบบดังกล่าวได้ทำการวิจัยพัฒนาจนสมบูรณ์ในระดับที่พร้อมจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มาทดลองใช้วางแผนเดินทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผ่านมือถือสมาร์ทโฟนและเว็บไซต์นำร่องเป็นจังหวัดแรก “ไปเป้ : www.pi-pe.org” จะสนับสนุนการนำข้อมูลเชิงวัฒนธรรมจากรากหญ้า ที่เกิดจากชุมชน เครือข่าย และข้อมูลจากหน่วยงาน มาผสานกับเทคโนโลยี ทำให้มีการเพิ่มทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นการนำขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และฐานข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรม และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อเป็นการสร้างความเข็มแข็งให้กับประเทศทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งสร้างโอกาสสำหรับการเข้าถึงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และที่สำคัญเป็นการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย นายพนม กะรีบุตร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า “ระบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้การวางแผนการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างสะดวก ผู้ใช้สามารถเลือกสถานที่ๆ ต้องการจะไป โดยกำหนดเวลาเริ่มต้น เวลาสิ้นสุด และ จุดเริ่มต้นที่จะขับรถ หลังจากนั้นไปเป้จะทำการคำนวณตารางการเดินทางให้ว่า ไปที่ไหนก่อนหลัง ใช้เวลาอยู่กับแต่ละสถานที่มากน้อยแค่ไหน เส้นทางขับรถเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน โดยการคำนวณตารางจะใช้ข้อมูลด้านระยะทาง เวลาเปิดปิดของสถานที่ รวมถึง ข้อมูลเวลาเยี่ยมชม มาประกอบการสร้างตาราง ช่วยลดเวลาในการค้นคว้าและการวางแผนการเที่ยวของผู้ใช้งาน ดังนั้น ประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากระบบแนะนำแผนท่องเที่ยวนี้ คือ นักท่องเที่ยวจะประหยัดเวลาในการหาข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยไม่ต้องเดินทางไปเพื่อขอข้อมูลก่อนการเดินทาง เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ และวางแผนการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวก่อนที่จะได้เดินทางไป สอดรับกับแนวคิดทางการท่องเที่ยวที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อต้านภัยโรคร้อนหรือ 7 Green ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติสู่การเดินทางท่องเที่ยวอย่างถูกวิธีและการให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญในหัวข้อ Green Heart / Tourist หัวใจของนักเดินทางที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก การใส่ใจและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ททท. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวในทิศทางที่ยั่งยืน ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องภาวะโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับตัวตามสถาน การณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” สอบถามข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ หัวหน้าโครงการ: ดร. รัฐภูมิ ตู้จินดา หน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาสื่อดิจิทัล (DML) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) อีเมล์: rattapoom.tuchinda@nectec.or.th โทรศัพท์: 02 564 6900 ต่อ 2627 ดร.รัฐภูมิ ตู้จินดา นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาสื่อดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค นักเรียนทุนประเทศไทยตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี -เอก โดย ระดับปริญญาตรีและโท จบจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ เอ็มไอที (MIT ) และจบด๊อกเตอร์หนุ่มจากคณะวิศวกรรมไฟฟ้า University of Southern California ด้วยบุคลิกของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมและประเทศชาติ และในวันนี้ การทดสอบระบบแนะนำแผนท่องเที่ยวด้วยสมาร์ท โฟนและเว็บไซต์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปป้: www.pi-pe.org คืออีกหนึ่งในผลงานที่อาจารย์รัฐภูมิภาคภูมิใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ