นายกรัฐมนตรีพิจารณาร่างแผนผู้สูงอายุฉบับปรับปรุง ชู 5 ยุทธศาสตร์ ส่งเสริมสถานภาพและบทบาทให้ผู้สูงอายุในสังคม หวังนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี

ข่าวทั่วไป Monday January 25, 2010 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--พม. นายกรัฐมนตรีพิจารณาร่างแผนผู้สูงอายุฉบับปรับปรุง ชู 5 ยุทธศาสตร์ ส่งเสริมสถานภาพและบทบาทให้ผู้สูงอายุในสังคม หวังนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 53 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 1/2553 ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่างแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนหลักในการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานสนับสนุนนำแผนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 9 (1) (2) ระบุให้ กผส. มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนหลักเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน สถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และกำหนดแนวทางปฏิบัติตามนโยบายและแผนหลัก ตลอดจนประสานติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนหลักดังกล่าว นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาร่างแผนผู้สูงอายุฯ ฉบับปรับปรุงนี้ เน้นการนำศักยภาพผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และส่งเสริมสถานภาพ บทบาทของผู้สูงอายุให้มีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น เช่น การสนับสนุนด้านกิจกรรม และสวัสดิการต่าง ๆ โดยหวังว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพทางสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นควบคู่กันไป นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ โดยแบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ 2) ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ 3) ยุทธศาสตร์ด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ 4) ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุอย่างบูรณาการระดับชาติและการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ 5) ยุทธศาสตร์ด้านการประมวล พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ นายอิสสระ กล่าวต่อว่า นอกจากพิจารณาแผนผู้สูงอายุฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักระดับชาติแล้ว ยังได้รายงานผลการดำเนินงานเรื่อง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2553 ต่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการดำเนินโครงการสร้างหลักประกันให้ผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง โดยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุรายเดือนๆ ละ 500 บาท ตลอดชีพ สำหรับในปีงบประมาณ 53 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ตั้งงบประมาณเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุจำนวน 5,080,491 คน เป็นเงิน 30,482,950,000 บาท ในส่วนของกรุงเทพมหานครจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 474,219 คน เป็นเงิน 2,845,314,000 บาท และเมืองพัทยา จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 4,664 คน เป็นเงิน 27,984,000 บาท โดยได้จัดสรรเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุไป ตั้งแต่เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา “จำนวนผู้สูงอายุในไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2551 มีการนำเสนอข้อมูลในปี 2551 ว่า มีผู้สูงอายุอยู่ถึง 7.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.1 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประชากรในวัยเด็กและวัยทำงานกลับลดลง รัฐเล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงได้พยายามมีนโยบายต่าง ๆ ในการสร้างเสริมศักยภาพและบทบาท รวมทั้งสวัสดิการทางสังคม เพื่อเป็นส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป ” นายอิสสระ กล่าว ศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ สายด่วนปัญหาสังคม ๒๔ ชั่วโมง กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ๒๕๕ อาคารกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ถ.ราชวิถี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ โทร. ๐ ๒๓๐๖ ๘๖๕๐ - ๓ โทรสาร. ๐ ๒๓๐๖ ๘๖๗๑ www.m -society.go.th E-mail : prd.pr@m-society.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ