กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๒ จำนวน ๕ ท่าน ซึ่งได้เข้ารับรางวัลในงาน ๔๑ ปี วันพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยมหิดล” ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศาสตราจารย์คลินิก ทันตแพทย์หญิง จิราภรณ์ ชัยวัฒน์ ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (เหรียญทอง) จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศนียบัตรฝึกอบรม สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน จากมหาวิทยาลัยเบอร์เก้น นอร์เวย์ และอนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน จากทันตแพทยสภา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในสาขาทันตกรรมจัดฟันทั้งในระดับปริญญาตรี และหลังปริญญา และทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน ทั้งในระดับปริญญาตรีและหลังปริญญาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานทางวิชาการทันตกรรมจัดฟันให้มีคุณภาพในระดับมาตรฐาน ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในโครงการทันตกรรมจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร เพื่อการแก้ไขผู้ป่วยที่มีความพิการทางใบหน้าและขากรรไกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวี เลาหพันธ์ หัวหน้าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การแพทย์) แพทยศาสตรบัณฑิต ประกาศนียบัตรชั้นสูง (วิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก), ว.ว. (พยาธิวิทยากายวิภาค) จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ M.S.(Education) จาก University of Southern California ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยได้รับรางวัลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี รางวัลอาจารย์ดีเด่นทางปรีคลินิก รางวัลบุคลากรดีเด่นของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู มุ่งพัฒนาสถาบันการแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้เป็นเลิศในระดับชาติและนานาชาติ พัฒนาการศึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้มีมาตรฐานเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถในการทำเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมี) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาเอกด้านชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์อาร์เบอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ (สาขาชีวเคมี) จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลนักชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลรุ่นใหม่ จาก สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ รางวัล L'OREAL-UNESCO Fellowship for Women in Science เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยกลุ่มแรกของประเทศไทยที่สามารถศึกษาจลนพลศาสตร์และกลไกการทำงานของเอนไซม์ในเชิงลึก ตั้งใจทำงานด้านการเรียนการสอน และช่วยเหลือกิจกรรมวิชาการส่วนรวมของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างขยันขันแข็ง มุ่งมั่น และทุ่มเทตลอดมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ ภิญโญภาสกุล ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาลและผดุงครรภ์) เกียรตินิยม จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโทและเอกด้านการพยาบาล จากมหาวิทยาลัย La Trobe ประเทศออสเตรเลีย ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รางวัลพยาบาลดีเด่น สาขาการศึกษาพยาบาล ประเภทอาจารย์พยาบาล สภาการพยาบาล เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นผู้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรก เป็นที่ปรึกษาและกองบรรณาธิการของวารสารในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาคุณภาพและการวิจัยทางการพยาบาลให้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันต่างๆ สร้างสรรค์ตำราทางการพยาบาลที่ทันสมัย มุ่งมั่นพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้างานการศึกษา ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาหมื่น จังหวัดน่าน ได้รับทุนพระราชทานส่งเสริมบัณฑิตด้านแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล รางวัลข้าราชการดีเด่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นบรรณาธิการบริหารและนักเขียนคอลัมน์ประจำในวารสารคลินิก สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวแบบเป็นองค์รวมด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวอย่างในการเป็นครูแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ทุ่มเทให้กับงานสอนที่มีรูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ผลิตงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นที่ปรึกษางานวิจัยให้แก่แพทย์ประจำบ้านทั้งในและนอกสถาบัน