กระดูกสันหลังคด เป็นได้ตั้งแต่แรกเกิด

ข่าวทั่วไป Tuesday January 26, 2010 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อพูดถึงเรื่องกระดูกๆ คุณแม่อาจรู้สึกว่าไกลตัวลูก ไม่ค่อยน่าสนใจ แต่สำหรับเรื่องภาวะกระดูกสันหลังคด เรื่องนี้นอกจากเกิดกับทารกแรกเกิดได้แล้ว ยังควรใส่ใจด้วยค่ะ เพราะมีผลต่อบุคลิกภาพของลูกเมื่อโต ซึ่งการสังเกตว่าลูกน้อยมีภาวะดังกล่าวหรือไม่ ก็ทำได้ไม่ยากเลย พอๆ กับการรักษาซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปไกลมาก มีโอกาสสำเร็จมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว แต่ก่อนอื่น ต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กันก่อน โดยฉบับนี้เราเดินทางมาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ตรงที่ศูนย์รักษากระดูกสันหลัง ชั้น 1 ซึ่งเปิดใหม่ไม่นาน เพื่อพูดคุยกับ นายแพทย์ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง และคุณหมอยังเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thaispine.com ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังอีกด้วย คุณหมอเริ่มต้นอธิบายถึงโรคนี้ว่า “ภาวะกระดูกสันหลังคดนั้น สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยครับ จะคนรวยคนจนก็พบได้ และเป็นได้ตั้งแต่เด็กวัยเล็กๆ รวมทั้งเด็กแรกเกิดก็สามารถเป็นได้ เรียกว่า Congenital Scoliosis ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ เป็นความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่แรกเกิด สัมพันธ์กับความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังแหว่ง คือมีหนึ่งข้อที่แหว่งไป อาจแหว่งซ้ายหรือขวา ขณะที่ด้านหนึ่งกระดูกมันยืดขึ้นมา แต่อีกด้านไม่มีกระดูกให้ยืด ก็จะทำให้หลังค่อยๆ คด หรือบางคนก็มีกระดูกสันหลังเกิน ทีนี้เมื่อเด็กค่อยๆ โตขึ้น สักหกขวบก็จะเริ่มเห็นชัดว่าหลังของเด็กคนนี้ค่อยๆ เบี้ยว ยิ่งเด็กสูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเบี้ยวเยอะ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ เด็กก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตสูง กลายเป็นบุคคลทุพลภาพ ส่วนใหญ่จึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการตัดแต่งกระดูก ...ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษากระดูกสันหลังคดก้าวหน้าไปไกลมาก สมัยก่อนการผ่าประเภทนี้อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตสัก 50 : 50 แต่ทุกวันนี้เราสามารถช่วยให้เด็กไม่เป็นอัมพาตได้แล้ว พ่อแม่ก็สบายใจ พาลูกมาผ่าตัดมากขึ้น โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัด ก็ขึ้นอยู่กับองศาการคดคดว่าทำมุมเท่าไหร่ ถ้าคดเกิน 40 องศาขึ้น เด็กอายุ 4 ขวบก็ผ่าได้แล้ว แต่ถ้าอายุ 3 ขวบ ก็อาจรอให้เด็กโตกว่านี้หน่อยจึงจะผ่าตัดได้ ...นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่ที่ความชำนาญของแพทย์ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ด้วย ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดทุกๆ ปี มันมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปทีละน้อย รวมถึงพ่อแม่เอง ถ้าสังเกตเร็ว พาลูกมารักษาเร็ว และแพทย์ผ่าตัดได้ถูกต้อง โอกาสที่เด็กคนนี้จะโตขึ้น ไม่มีภาวะทุพลภาพก็มีสูงตามไปด้วย” อะไรคือสาเหตุทำให้กระดูกสันหลังคด “ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่ามีโครโมโซมบางอย่างที่เป็นตัวบังคับให้เกิดการม้วนกระดูกสันหลังขึ้น เหมือนเวลาบิดเชือก พอปั่นเชือกไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ บิดเกลียว กระดูกสันหลังของเราก็เช่นเดียวกัน ซึ่งภาวะนี้มักพบช่วงที่เด็กอายุก่อนวัยรุ่น เรียกย่อๆ ว่า AIS (Adolescent Idiopathic Scoliosis) โดยมีการศึกษากัน สันนิษฐานว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด คือถ้าคนในครอบครัวเคยมีประวัติกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุมาก่อน ก็มักพบว่าลูกมีโอกาสที่จะเป็นกระดูกสันหลังคดสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาการจะค่อยๆ แสดงออกมาโดยเด็กไม่รู้ตัว จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กไปยืนส่องกระจกแล้วตกใจ เรียกแม่มาดูว่าหลังเป็นอะไรไม่รู้ มีโหนกขึ้น ก็คือกระดูกสันหลังมันบิดแล้วยกตัวขึ้น พ่อแม่ก็จะพามาลูกเอ๊กซเรย์ และพบว่าลูกมีภาวะกระดูกสันหลังคด ซึ่งที่พบบ่อย คือการคดของกระดูกสันหลังช่วงหน้าอก” คดมากน้อยแค่ไหนจึงจะเป็นอันตราย ...ความที่ภาวะกระดูกสันหลังคด คนต่างประเทศจะเป็นกันเยอะ เยอะกว่าคนเอเชียบ้านเรา บ้านเขาก็จะมีการศึกษากันมานาน ซึ่งเมื่อร้อยปีที่แล้ว ก็มีความพยายามที่จะรักษา ไม่ว่าจะเป็นการเอาคนมาขันชะเนาะ จับดึงรักแร้ ดึงขา แล้วขันไปเรื่อยๆ บ้างก็ให้เด็กเดินในไม้ที่ตีดาม แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่หาย จนประมาณหกสิบปีที่ผ่านมา ที่อเมริกามีการศึกษากันมากขึ้นจนก่อตั้งเป็นสมาคมฯ มีการศึกษาจนรู้ว่าโรคนี้ไม่มีสาเหตุ มันเกิดขึ้นเอง ก็เลยพยายามศึกษากันว่าจะพยากรณ์โรคนี้ได้อย่างไร ว่าเด็กคนไหนจะคดน้อยหรือคดมาก ซึ่งถ้าเราพยากรณ์ได้เร็ว เราก็สามารถรักษาได้เร็ว แต่ถ้าพยากรณ์แล้วพบว่าเด็กคนนี้คดน้อย เราก็ปล่อยไว้ ไม่ต้องผ่า ไม่ต้องอะไร เป็นต้น ซึ่งโรคนี้การคดมีตั้งแต่ 15 องศา จนสังเกตไม่เห็น หรือคดมากๆ กระทั่ง 90 — 100 องศา จนหัวแทบจะพับไปถึงไหล่เลยก็มี แต่การที่เรารู้ได้ว่าเด็กคนไหนคดน้อยหรือคดมาก ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ความเชี่ยวชาญของแพทย์ด้วย ซึ่งภาวะกระดูกสันหลังคด ใครๆ ก็วินิจฉัยได้ แต่หมอที่เก่งๆ ต้องรู้ด้วยว่า อนาคตเด็กคนนั้นๆ จะมีภาวะกระดูกสันหลังคดมากน้อยแค่ไหน ...อย่างไรก็ดี การศึกษาจากสถิติก็พบว่า ในผู้หญิง ถ้าเด็กมีการหลังคดตั้งแต่ก่อนเริ่มมีประจำเดือน ก็บอกได้เลยว่า เด็กคนนี้พยากรณ์โรคไม่ค่อยดี ต่อไปอาจจะคดเร็ว นั่นเพราะเซ็กส์ฮอร์โมนหรือเอสโตรเจนที่หลั่งออกมา จะเปลี่ยนการตีเกลียวของกระดูกสันหลัง ทำให้คดเร็วขึ้น ฉะนั้นจึงมีการสันนิษฐานว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคนี้เช่นกัน ...การพยากรณ์ของโรค เราจึงดูจาก หนึ่ง คือเรื่องของการมีประจำเดือน สอง คือเรื่องของมุม ถ้าเด็กมาหาเราครั้งแรก พบว่าเด็กมีมุมเยอะตั้งแต่แรก เด็กพวกนี้ก็มีโอกาสที่จะคดเร็วมาก เมื่อเทียบกับเด็กที่มาหาเราโดยมีมุมคดน้อยๆ ซึ่งการวัด สมัยก่อนจะใช้ฟิล์ม แต่ปัจจุบันเราใช้คอมพิวเตอร์ โดยถ่ายเอ๊กซเรย์ แล้วลากเส้นในคอมพิวเตอร์ลากเป็นมุมออกมา สมมติถ้าวัดครั้งแรกได้ 40 องศา ก็เตรียมบอกได้เลยว่าเก็บเงินผ่าตัดได้แล้ว แต่ถ้าเด็กอีกคนมาหาเราด้วยวัยเดียวกัน แต่มีมุมคดแค่ 10 องศา เราก็บอกว่าให้ดูไปก่อน อย่าเพิ่งตื่นเต้นตกใจ” ผลกระทบจากการคด “ปกติกระดูกสันหลังคด ถ้าคดไม่ถึงหกสิบองศา ก็แทบไม่มีอาการปวดแตกต่างจากคนทั่วไป แต่ถ้าคดเกินหกสิบองศา จะเริ่มมีอาการปวดหลัง และถ้าคดเกินร้อยองศา ก็จะมีปัญหาเรื่องการหายใจ และถ้าคดเกินร้อยสามสิบร้อยสี่สิบองศาขึ้นไป ก็จะเริ่มเป็นอัมพาต เริ่มมีการอ่อนแรง จนคดถึงร้อยสามสิบ ร้อยสี่สิบองศา คนไข้ก็คงเดินไมได้แล้ว เรียกว่าตัวแทบเดินขนานกับพื้นทีเดียว ...ผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ก็มีเรื่องของปอดที่เจอบ่อย โดยปอดจะมีการติดเชื้อ เพราะว่าขนาดของปอดจะเล็กลงตามการบิดของซี่โครง พอปอดเล็กลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีการติดเชื้อสูงกว่าคนปกติ และพวกนี้ถ้ามีการติดเชื้อในปอด ก็จะทำให้เสียชีวิตได้ง่าย การรักษากระดูกสันหลังคด “กลุ่มที่คดเร็วๆ เด็กพวกนี้เราจะนัดมาทุกๆ 6 เดือน และถ้า 6 เดือนมาแล้วพบว่า คดเร็วมากขึ้นเกิน 5 องศา ก็ชัวร์ๆ ว่าเด็กคนนี้ต่อไปต้องคดเร็วแน่ๆ ความพิการก็สูงตามไปด้วย เด็กพวกนี้ก็จะถูกแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด แต่ถ้าอายุยังน้อยอยู่ ไม่เหมาะกับการผ่าตัด ก็อาจแนะนำให้เด็กใส่เสื้อเกราะ (brace) เช่น เด็กอายุ 8 ขวบมาด้วยมุมคดที่ไม่เยอะนัก สัก 30 องศา เราก็จับเขาดัดในเสื้อเกราะซึ่งต้องสั่งตัด เวลาใส่ก็จะทรมานหน่อย เนื่องจากต้องมีการบังคับโดยการบิดตัว เด็กจะอยู่ในท่าที่เบี้ยวๆ แบบนี้ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืนจึงจะได้ผล แต่เด็กก็สามารถขยับตัว ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เดินได้ ไปเรียนหนังสือได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องใส่เสื้อตัวใหญ่ๆ เพื่อบิดกระดูกสันหลังให้มันกลับคืน แล้วต้องคอยกลับมาปรับ มาดัดที่โรงพยาบาลทุกๆ 2-- 3 เดือน โดยใช้ความร้อนอัดเข้าไปโม ...การใส่เบร๊คจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ โอกาสเกิดผลสำเร็จก็ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 50 - 70 เปอร์เซ็นต์ การใส่เบร๊คไม่ได้ทำให้กระดูกสันหลังดัดกลับมาตรง แต่เป็นการยับยั้งไม่ให้มันคดมากกว่าเดิม และต้องอาศัยความร่วมมือของพ่อแม่ที่ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช นอกจากนี้การดัดด้วยเบร๊คยังค่อนข้างใช้เวลานาน บางรายต้องใส่ 5 — 6 ปี และเบร๊คตัวนึงก็มีราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน และทุกครั้งที่มาปรับองศา ก็มีค่าใช้จ่ายในการการทำ แต่ที่ปลอดภัยคือ ไม่มีความเสี่ยงของอัมพาตจากการผ่าตัดแน่ๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่กลัว เรื่องอัมพาตจากการผ่าตัด ก็จะเลือกให้ลูกใส่เบร๊คแทน ...ขณะที่การรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันโอกาสสำเร็จจากการผ่าตัดก็มีสูงถึง 98 - 99 เปอร์เซ็นต์ โดยมีความเสี่ยงต่อระบบประสาท 1 - 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถ้าเราผ่าตัดได้ดี คนไข้ก็ไม่ต้องใส่เบร๊คอีกเลย เพียงแต่คนไข้จะมีเหล็กอยู่ในตัวคอยค้ำไว้ ก็สามารถเดินไปไหนต่อไหนได้ โดยคนไข้จะเจ็บนิดหน่อยในช่วงแรกเท่านั้น ประมาณ 3 - 4 วัน จากนั้นก็ค่อยๆ เบาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอดีต เหล็กที่ใส่ในร่างกาย เรียกว่าเหล็กฮุก เป็นตะขอเกี่ยวดันขึ้นไป ใช้มาประมาณหกสิบปี จนเลิกใช้กันประมาณสิบห้าปีที่แล้ว เพราะความถูกต้องในการแก้ไขแนวกระดูกสันหลังสู้เหล็กรุ่นใหม่ไม่ได้ หลังผ่าตัด กรณีคนไข้ที่เป็น AIS ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องกลับมาแก้ไขใหม่ ทีเดียวจบ ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับราคาของเครื่องมือเป็นหลัก ซึ่งราคาของเครื่องมือ ถ้าเอาจากต่างประเทศทั้งหมด ก็ไม่ต่ำกว่า 2 - 3 แสน แต่ปัจจุบันในบ้านเราสามารถผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้แล้ว ราคาก็ต่ำลงมาอีกครึ่ง ..แน่นอน การรักษาด้วยการผ่าตัดก็มีข้อดีกว่าการใส่เบร๊ค หนึ่งคือ เด็กไม่ต้องเสียสุขภาพจิตจากการใส่เบร๊ค สอง โอกาสสำเร็จก็มากกว่า มั่นใจได้ เพราะเด็กไม่สามารถถอดเหล็กเองได้แน่นอน เมื่อได้รับการดัดตรงแล้วก็คือตรงตลอดไป แต่ข้อเสียคือ ความเสี่ยงจากการผ่าตัดทั่วๆ ไป เช่น การติดเชื้อ การเกิดอัมพาต แต่ก็มีโอกาสน้อย ประมาณ 1 - 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรอยแผลผ่าตัด ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการคด ถ้าคดสั้นๆ แผลก็ไม่ยาว ถ้าคดยาวๆ แผลก็ต้องลากยาวไปด้วย และหลังผ่าตัด ก็จำเป็นต้องใส่เบร๊คประคองไปอีกระยะ ประมาณ 5 — 6 เดือน เพื่อให้กระดูกที่เราโรยไว้เชื่อมกันสนิท รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือน เช่น เล่นรักบี้ แต่ถ้ากีฬาธรรมดาๆ อย่างว่ายน้ำ ตีปิงปอง ก็สามารถเล่นได้ปกติ ไม่มีปัญหา การสังเกตกระดูกสันหลังของลูก ปัจจุบันในบ้านเราก็เจอคนที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะเขารู้แล้วว่าโรคนี้รักษาได้ ซึ่งเมื่อก่อนเขารู้ว่าเป็น แต่ไม่อยากให้หมอแตะ กลัวจะเป็นอัมพาต ก็เลยไม่ค่อยกล้ามารักษา แต่เดี๋ยวนี้คนไข้มาหาหมอเยอะขึ้น เขารู้แล้วว่าการผ่าตัดช่วยเขาได้ และไม่อันตราย ก็มารับการผ่าตัดมากขึ้น ...อย่างที่อเมริกา เขาก็จะตื่นตัวกันมาก โดยมีการป้องกันด้วยวิธี Early Detection โดยเข้าไปสกรีนเด็กในโรงเรียน จับเด็กมาพันคนแล้วมาสกรีนหาว่ามีภาวะกระดูกสันหลังคดหรือไม่ ซึ่งก็เจอน้อยมาก ตรวจไปห้าร้อยคน อาจจะเจอสักคน ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเขาทำเป็นรัฐ เด็กจะมายืนเข้าแถว แล้วให้ก้มดู ถ้าก้มปุ๊บ แล้วมีการนูนขึ้นมาของหลัง เห็นร่องรอยของการก้มไม่เท่ากัน หลังนูนไม่เท่ากัน ก็จะให้เด็กไปเอ๊กซเรย์ต่อ เรียกว่า Adam Forward Screening Test ...ฉะนั้น สิ่งที่อยากจะส่งข้อความถึงพ่อแม่ก็คือ หนึ่ง ให้สังเกตหลังลูกตนเองให้ดี ว่ามีรอยนูน รอยบิดของหลังที่ผิดปกติหรือไม่ โดยสังเกตได้ตั้งแต่เกิด อย่างเวลาเขานอนอยู่ ก็ให้นอนคว่ำแล้วสังเกตดู รวมทั้งอย่าละเลยแม้เด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่เด็กวัยรุ่นมักชอบแต่งตัวเอง พ่อแม่ก็อาจต้องเข้าไปพูดคุย ระหว่างที่เขาเปลี่ยนเสื้อใน ก็ลองดูสักหน่อยว่าหลังเขามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ลองให้ก้มในแนวระนาบขนานกับพื้นดู ว่าสะบักสองข้างเท่ากันไหม ถ้าสะบักสองข้างไม่เท่ากัน ก็แสดงว่าเด็กคนนั้นอาจเริ่มมีกระดูกสันหลังคด ก็ควรลองพาเขามาให้แพทย์ตรวจสักหน่อย สนับสนุนข้อมูลโดย สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1719 โรงพยาบาลกรุงเทพ
แท็ก ทารก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ