กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--โรงพยาบาลกรุงเทพ
รูปแบบการทำงานของคนเมืองที่หยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะต้องนั่งทำงานในสำนักงาน รวมทั้งการที่ต้องนั่งขับรถท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดเป็นประจำ จนแทบไม่มีเวลาสำหรับการออกกำลังกายขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อกว่า 600 มัดที่มีอยู่
ใครจะคิดว่าพฤติกรรมปกติธรรมดาเช่นนี้จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคอย่าง “กล้ามเนื้อตะโพกหนีบเส้นประสาท” อาการปวดตามบ่า ไหล่ ตะโพกที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้นจนไปถึงปลายมือ ปลายเท้า ไม่ว่าจะกินยาขนานใดก็ ไม่มีทีท่าว่าจะหายขาดนั้น คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นสาเหตุมาจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะคนไข้บางรายที่ตรงไปพบแพทย์ด้วยอาการที่ว่าอาจจะพบความผิดปกติของหมอนรองกระดูกสันหลังที่อาจเกิดขึ้นตามวัยด้วย บางรายยอมที่จะเจ็บตัวกับการผ่าตัดทว่าอาการของโรคก็ดูเหมือนจะยังไม่หายไป
“ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดรุนแรง กว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เสียอีก นอนตอนกลางคืนจะปวดมากจนนอนไม่หลับ เวลาเปลี่ยนท่า อย่างการเดินแรกๆ มักจะปวดตะโพกลงขา แต่พอเดินๆ ไประยะหนึ่งจะค่อยๆ หายปวดขา ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อต้นคอ เวลาขยับกล้ามเนื้อคอจะมีอาการปวดเสียวอย่างแรงเหมือนไฟฟ้าช็อตไปที่แขนได้ ซึ่งอาการนี้คล้ายคลึงกับในโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาก” น.อ.นพ.ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลัง กรุงเทพ ระบุ
อาการของโรคที่ใกล้เคียงกันมากนั้นแม้แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง บางครั้งก็อาจจะไม่สามารถแยกความแตกต่างของทั้งสองโรคได้ 100% และนั่นนำมาซึ่งการรักษาที่ไม่ ตรงจุด
โรคกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาทนั้นจะมีอาการปวดร้าว และ ชาไปตามแขน หรือขา มีลักษณะอาการคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมาก
“ถ้าซักประวัติให้ละเอียดจะพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อนี้มักจะมีอาการปวดบริเวณตะโพกนำมาก่อน และค่อยๆ ลามลงชาไปจนถึงปลายเท้า หรือปวดบริเวณคอ หัวไหล่ แล้วค่อยๆ ลามไปถึงปลายแขน”
ความคล้ายคลึงกันของทั้งสองโรคทำให้การวินิจฉัยโดยการทำเอ็มอาร์ไออาจไม่เพียงพอ ไม่เพียงเท่านั้นบางครั้งยังพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคทั้งสองพร้อมกันด้วย ดังนั้นการรักษาด้วยการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดอย่างรุนแรงโดยด่วนจึงยังไม่ใช่ทางออก เพราะการผ่าตัดไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อที่รัดแน่นอยู่คลายตัว
“กล้ามเนื้อของมนุษย์เปรียบเสมือนเป็นมอเตอร์ให้ร่างกายขับเคลื่อนไปได้ โดยทำงานตลอดเวลาไม่มีพัก จึงไม่แปลกที่กล้ามเนื้อเหล่านี้จะมีอาการป่วย โดยส่งสัญญาณเป็นอาการปวดร้าวตามร่างกายส่วนต่างๆ แต่โชคร้ายที่เราไม่สามารถแสดงอาการป่วยของกล้ามเนื้อนี้ได้จากการเอกซเรย์ หรือเอ็มอาร์ไอ เมื่อกล้ามเนื้อส่วนที่มีเส้นประสาททอดผ่านมีการยืดหยุ่นน้อยลง มีการเกร็งหนีบเส้นประสาทไว้ก็จะส่งผลให้มีอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทนั้นได้” พญ.สุชีลา จิตสาโรจิตโต ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ระบุ
ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษา พบว่า จะมีอาการชาที่ฝ่าเท้า น่อง หรือปลายนิ้วเท้า ไม่เลือกเวลา เป็นๆ หายๆ บางทีก็เป็นหนัก บางทีก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เชื่อกันว่าอาการนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้อที่เกิดการอักเสบส่งความรู้สึกประหลาดนี้มาที่ขาได้
บางรายเวลานั่งนานๆ จะมีอาการปวดที่แก้มก้น หรือเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืน หรือเริ่มก้าวเดินแรกๆ จะปวดที่ก้น ผู้ป่วยบางรายที่เป็นมากๆ จะมีอาการชาหรือเสียวเวลาถูกลมเบาๆ หรือถูกสัมผัสเบาๆ มีความรู้สึกซู่ซ่าที่น่องหรือปลายเท้า รู้สึกเย็นๆ มีขนลุกซู่เป็นครั้งคราว เรียกอาการนี้ว่า อัลโลไดเนีย (allodynia) คือ ไวต่อสิ่งสัมผัสมากเกินไป
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากนักสามารถรักษาได้โดยการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด ไปจนถึงการคลายกล้ามเนื้อ อาทิ การใช้ความร้อนทั้งแบบพื้นผิว หรือแบบลึกไปสู่กล้ามเนื้อชั้นลึก การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือการฝังเข็มให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ
บางครั้งอาการปวดจากกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาทมีความรุนแรงมากจนผู้ป่วยแทบทนไม่ไหว จนต้องพึ่งพาแพทย์เฉพาะทางด้านระงับปวดให้มีส่วนช่วยในการดูแลผู้ที่มีอาการปวดรุนแรง โดยใช้การฉีดยาเฉพาะที่เข้ารอบๆ เส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง นอกจากนี้ยังมีการนำเทคนิคทั้งการใช้อัลตราซาวด์และการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น เพื่อทำให้การหาตำแหน่งมีความแม่นยำมากขึ้น
ทว่าโรคกล้ามเนื้อนี้ยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้หายได้โดยทันที ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาระยะหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวหนีบเส้นประสาทอยู่นั้นคลายตัวได้ถาวร และการผ่าตัดก็ไม่ใช่ทางออกสำหรับโรคนี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
http://www.bangkokhospital.com
http://www.bangkokhealth.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-7551638 BDMS e-Communication Department