นิเทศฯ มสธ.เผยงานวิจัย ชี้ชัดรัฐต้องปรับนโยบายหนุนสื่อคุณธรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday January 26, 2010 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน นักวิจัยสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. เผย สื่อเผยแพร่เรื่องความซื่อสัตย์มากที่สุด แนะสื่อคุณธรรมต้นแบบควรสอดแทรกแบบสั้น ง่าย กระชับ สนุกสนาน ขณะที่ฝากรัฐปรับนโยบายการสร้างเสริมคุณธรรมให้เหมาะกับสื่อท้องถิ่น ปรับนโยบาย/หลักสูตรการศึกษาของชาติให้มีเรื่องคุณธรรม เพื่อให้มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สร้างภูมิคุ้มกัน ผศ.ดร.สันทัด ทองรินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “การสร้างเสริมและพัฒนาสื่อคุณธรรมในสังคมไทย” ว่า หลังจากที่ทีมนักวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ปี พ.ศ.2551 ในการศึกษาทบทวนสถานการณ์ด้านสื่อทุกประเภท ที่มีเนื้อหาส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งมีการเผยแพร่ในประเทศไทยในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2540-2551 โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล สำรวจแบบสอบถาม และวิเคราะห์เอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก จากสื่อมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อ ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสื่อและประชาชนกลุ่มต่างๆ รวม 732 คน พบว่า สถานการณ์การสื่อสารสร้างเสริมคุณธรรมสื่อทุกประเภท ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุมีการนำเสนอประเด็นคุณธรรมที่นำเสนอมากที่สุดตรงกันทุกสื่อ คือ การมีจิตสำนึกสาธารณะ โดยโทรทัศน์เน้นที่กลุ่มเด็กเยาวชน และกลุ่มประชาชนทั่วไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่หนังสือพิมพ์ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใหญ่มากที่สุด วิทยุไม่ได้มุ่งกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ วิธีการนำเสนอ พบว่าโทรทัศน์ และวิทยุนำเสนอเนื้อหาด้านคุณธรรมลักษณะสอดแทรกในรายการต่างๆ ส่วนหนังสือพิมพ์นำเสนอแบบโดยตรง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มมีการเปิดรับสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ส่วนสื่อบุคคลเปิดรับจากพ่อแม่ ญาติมากที่สุด และสื่อเฉพาะกิจ เปิดรับจากประเภทกิจกรรม ส่วนประเด็นคุณธรรมที่เคยได้รับจากสื่อมากที่สุด คือ ความซื่อสัตย์ และเห็นตรงกันว่าถ้าขาดการส่งเสริมคุณธรรมจะเกิดผลเสียต่อทั้งสังคมและต่อบุคคลหรือตนเอง ผศ.ดร.สันทัด กล่าวต่อว่า ส่วนสื่อคุณธรรมต้นแบบควรมีลักษณะ 2 ด้าน คือ วิธีการนำเสนอควรใช้วิธีการสอดแทรกในสื่อต่างๆ ง่าย สั้น กระชับ สนุกสนาน เป็นรูปธรรม ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป ใช้ภาษาที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ส่วนด้านเนื้อหาควรส่งเสริมยกย่องคนดี และการทำความดี สอดคล้องกับกระแส สถานการณ์ที่สำคัญ และวิถีชีวิต ซึ่งตัวอย่างสื่อคุณธรรมต้นแบบ ได้แก่ รายการโทรทัศน์ “ฅนค้นฅน” รายการวิทยุธรรมะวันอาทิตย์ “ปาฐกถาธรรม” หนังสือ “ธรรมะติดปีก” และสื่อบุคคล “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” อย่างไรก็ตาม การนำเสนอด้านคุณธรรมของสื่อต่างๆ ยังเป็นลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ทำให้การส่งเสริมด้านคุณธรรมในสังคมไทยยังขาดพลัง รวมทั้งการที่ขาดหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ดังนั้นการส่งเสริมคุณธรรมที่ดีที่สุด ภาครัฐควรกำหนดนโยบายด้านการสร้างเสริมคุณธรรมให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ควบคู่การศึกษาถึงสถานการณ์ของปัญหาคุณธรรมให้รอบด้าน มีการกำหนดองค์กรหรือหน่วยงานหลักในการสร้างเสริมและพัฒนาเรื่องคุณธรรมในระดับชาติ รัฐต้องเป็นผู้นำสนับสนุน ให้แนวทางแก่สื่อในการจัดทำโครงการนำร่องด้านคุณธรรม โดยสื่อภาครัฐควรเป็นต้นแบบในการสร้างเสริมคุณธรรม สนับสนุนงบประมาณให้กับสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปของกองทุน ใช้มาตรการลดภาษีแก่ผู้ผลิตสื่อคุณธรรม รวมทั้ง ควรปรับนโยบายการสร้างเสริมคุณธรรมให้เหมาะกับสื่อท้องถิ่น การปรับนโยบาย/หลักสูตรการศึกษาของชาติให้มีเรื่องคุณธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สร้างภูมิคุ้มกัน และควรสร้างเครือข่ายกับองค์กรสื่อต่างๆ ในการกำหนดนโยบายด้านคุณธรรม ภายใต้การบูรณาการใช้ทุกสื่อร่วมกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการและเกิดประโยชน์มากที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ