มรดกศิลป์ชั้นเอกในวิถีจีน ในงาน “ไชนีส เฟส 2010” ที่แฟชั่นไอส์แลนด์

ข่าวทั่วไป Tuesday January 26, 2010 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--เวิรฟ ผลงานศิลปะของชาวจีนในแง่มุมต่างๆ ที่มีมานานนับหมื่นปี เป็นมรดกล้ำค่าที่สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ทั้งมุมมอง ทัศนคติ ปรัชญา และวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งล้วนคงเอกลักษณ์ความโดดเด่น เป็นมรดกศิลป์ชั้นเอกให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกับแนวคิดระดับ “ปราชญ์” และ “ภูมิปัญญา” ของวิถีจีนในแต่ละยุคที่สะท้อนเป็นผลงานศิลป์ชั้นยอดที่ยังความงดงามไม่เสื่อมคลาย นายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กล่าวว่า ในโอกาสเทศกาลตรุษจีน ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ได้จัดกิจกรรม “ไชนีส เฟส 2010” ภายใต้แนวคิด “เปิดม่านมรดกจีน ชมเมืองดอกเหมยบาน” ระหว่างวันที่ 5 — 14 กุมภาพันธ์ นี้ โดยเน้นรูปแบบการถ่ายทอดให้เห็นถึงความงดงามของศิลปะจีนในรูปแบบต่างๆ ที่ถือเป็นมรดกศิลป์ชั้นยอดที่ยังความงดงาม และสะท้อนถึงมุมมอง ทัศนคติ ปรัชญา และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวจีน โดยได้จัดแสดงศิลปะจีนที่หาชมได้ยากจาก 5 มณฑลสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน อาทิ การแสดงเชิดหุ่นกระบอกไหหลำ จากมณฑลไห่หนาน, กังฟูเส้าหลิน จากโรงเรียนกายกรรมมวยวัดเส้าหลิน มณฑลเซี่ยงไฮ้, มายากลเปลี่ยนหน้ากาก จากมณฑลเสฉวน, กายกรรมเหินหาว จากคณะกายกรรมฝูหยาง มณฑลเหอหนาน และการเชิดสิงโตและนาฏศิลป์จีน จากมณฑลปักกิ่ง และเรียนรู้ศาสตร์การเขียนพู่กันจีน, การตัดกระดาษแบบจีน และการร้อยเชือกแบบจีน พร้อมร่วมนมัสการขอพรกับเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ในคติความเชื่อของชาวจีน เรียนรู้ศาสตร์ฮวงจุ้ยการจัดบ้านเสริมศิริมงคล หุ่นกระบอกไหหล่ำ งานศิลป์ชั้นยอดของมณฑลไห่หนาน การเชิดหุ่นกระบอกไห่หลำของชาวจีนมณฑลไห่หนาน เป็นการแสดงเพื่อสักการะเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวจีน โดยจะแสดงเพียงปีละ 1 ครั้ง ผู้เชิดหุ่นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักกับการใช้ทักษะในการควบคุมหุ่นกระบอกผ่านนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว ให้มีลีลาท่าทางที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการบูชาเทพเจ้า และความรักสามเส้าของหนุ่มสาว อย่างเรื่อง “ตา ฉิน เซ” (สามพี่น้อง) หรือมีเนื้อหาเกี่ยวกับความภักดีต่อผู้มีพระคุณอย่างเรื่อง “สามก๊ก” สำหรับในประเทศไทย มีการแสดงเพียง 2 คณะเท่านั้น ได้แก่ คณะผั่นวา และหยุ่งวา โดยแสดงอยู่บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม (จุ้ยโบเนี้ยว) บริเวณเชิงสะพานซังฮี้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าใหญ่ที่ได้รับความนับถือตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี กังฟูเส้าหลิน สุดยอดศาสตร์แห่งการต่อสู้ของมณฑลเซี่ยงไฮ้ หากเอ่ยถึง “วัดเส้าหลิน” หลายคนคงนึกถึงหลวงจีนที่แสดงเพลงหมัดมวย หรือ“กังฟูเส้าหลิน” อันยอดเยี่ยมในหนังกำลังภายในอยู่บ่อยๆ กังฟูเส้าหลินเป็นศาสตร์การต่อสู้ที่เกิดจากปรมาจารย์ตั๊กม้อ ที่ต้องการให้พระภิกษุซึ่งนั่งสมาธิปฎิบัติธรรมเป็นเวลานานๆ ได้ยืดเส้นยืดสาย และใช้ป้องกันตัวจากสัตว์ป่าในบริเวณนั้น แต่ในปัจจุบัน กังฟูเส้าหลินได้ถูกปรับประยุกต์ให้เป็นท่าออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี มายากลเปลี่ยนหน้ากาก ศิลปะน่าทึ่งของมณฑลเสฉวน “เปี้ยนเหลี่ยน” หรือการแสดงเปลี่ยนหน้ากาก นับเป็นศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียงของเสฉวน ซึ่งในการแสดงแต่ละครั้งต้องใช้หน้ากากมากกว่า 10 หน้า ซึ่งต้องใช้ความสามารถพิเศษประกอบกับความรวดเร็วในการสลับสับเปลี่ยนหน้ากากตลอดการแสดง โดยมีวิธีการเปลี่ยนหน้ากากอย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ แบบ “มอเหลี่ยน” (ลูบ) แบบ “ชุยเหลี่ยน” (เป่า) แบบ “ฉือเหลี่ยน” (ดึง) และแบบ “ยุ่นชี่” (กำลังภายใน) นอกจากการเปลี่ยนหน้ากากแล้ว การใช้สียังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เพื่อเพิ่มความตื่นตาตื่นใจและความสนเท่ห์ให้แก่ผู้ชมอีกด้วย กายกรรมเหินหาวฝูหยาง การแสดงน่าตื่นตาของมณฑลเหอหนาน กายกรรมเหินหาวฝูหยาง เริ่มจากการคัดสรรเยาวชนตัวน้อยอายุตั้งแต่ 3 ขวบ มาเริ่มฝึกกายกรรมในแต่ละประเภท ซึ่งรากฐานของกายกรรมได้เริ่มขึ้นในช่วงราชวงศ์ฮั่น เป็นการนำทักษะการทรงตัวประยุกต์เข้ากับการละเล่นของเด็ก และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงราชวงศ์ถัง คือ ในทุกหมู่บ้านต่างมีคณะกายกรรมเป็นของตัวเอง ต่อมาในสมัยของนายโจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรีคนแรกหลังการสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้ริเริ่มจัดตั้งคณะกายกรรมแห่งชาติจีน ประกอบด้วยนักแสดง 7 คน พร้อมเดินสายถ่ายทอดศิลปะการแสดงกายกรรมในประเทศต่างๆ ให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับการแสดงการทรงตัวในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก ทั้งการแสดงไต่เชือก เดินบันไดลวด ต่อตัวปั่นจักรยาน หรือแม้แต่หดตัวเข้าถัง เป็นต้น ศาสตร์เชิดสิงโตจากปักกิ่ง การเชิดสิงโต เริ่มมีขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง สมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ ตามความเชื่อของชาวจีน สิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ นำสิ่งมงคลมาให้แก่ผู้กราบไหว้ การแสดงเชิดสิงโตในประเทศจีน คณะสิงโตจะสังกัดค่ายมวย โดยผู้แสดงต้องฝึกวิชากังฟูเพื่อใช้ประกอบการเคลื่อนไหวท่วงท่าต่างๆ เวลาเชิดสิงโต สิงโตสำหรับเชิดมีหลายรูปแบบโดยสังเกตได้จากลักษณะของสิงโตที่ใช้เชิด เช่น “สิงโตปักกิ่ง” ลักษณะมีขนปุกปุยสีเหลืองหรือสีแดง มีกระพรวนผูกที่คอ ส่วนใหญ่จะนิยมเล่นเป็นคู่ 2 ตัว “สิงโตฮักกง” ทางตอนใต้ของจีน มีลักษณะปากเป็ด และ “สิงโตกวางตุ้ง” ซึ่งสิงโตชนิดนี้จะเป็นสิงโตในจินตนาการของพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ สำหรับการแสดงเชิดสิงโตในเมืองไทยที่นิยมแสดงมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดแบบโบราณ คือ การแสดงแบบกายกรรมต่อตัว และปีนกระบอกไม้ไผ่ จินตนาการเลิศล้ำสู่การแปรภาพเป็น “อักษรมงคล” ในหลายครั้งที่มีการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาของราชวงศ์จีน มักพบตัวอักษรจีนเขียนอยู่บนเครื่องปั้นดินเผา หรือกระดองของสัตว์ ลักษณะตัวอักษรจีนนี้เรียกว่า “เจี่ยกู่เหวิน” ซึ่งเป็นอักษรที่ไว้สำหรับบวงสรวงเทพเจ้า หรือใช้ในการเซ่นไหว้ก่อนเวลาออกรบในสมัยโบราณ โดยตัวอักษรจีนเจี่ยกู่เหวินมีประมาณกว่า 4,500 ตัว เกิดจากจินตนาการของคนสมัยโบราณที่แปรภาพสิ่งของหรือสัตว์ หรือในบางครั้งเกิดจากการรวมตัวของตัวอักษร 2 ตัว เกิดเป็นคำใหม่ แต่ยังคงมีความหมายใกล้เคียงกับคำเดิม นอกจากนี้ ในอักษรจีน ยังมีอักษรมงคลที่เรียกว่า “จินเหวิน” คืออักษรจีนที่สลักอยู่บนเครื่องทองสัมฤทธิ์หรือระฆัง ซึ่งเป็นเครื่องใช้สำหรับเซ่นไหว้เทพเจ้า โดยอักษรจีนดังกล่าวถือเป็นศิลปะชั้นสูงและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลอีกด้วย ร่วมสัมผัสมรดกล้ำค่าของชาวจีนที่มีมากว่าหมื่นปี เพลิดเพลินตระการตากับหมู่ดอกเหมย ในงาน “ไชนีส เฟส 2010” ระหว่างวันที่ 5 - 14 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ลานเซ็นเตอร์ คอร์ท ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอส์แลนด์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: เวิรฟ ประสิทธิ์ กฤษฎาอริยชน (บ๊อบ) โทร. 02-204-8216 พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ (อ๋า) โทร. 02-204-8212
แท็ก ปรัชญา   ศิลปะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ