กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--AMEX TEAM Advertising
สหกิจศึกษา ACC School of Commerce-Assumption University
1. วัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์ (Commerce) เป็นหลักสูตรที่จัดให้นักศึกษาได้มีการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการซึ่งเรียกว่าสหกิจศึกษา (Cooperative Education) หลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยที่จัดให้มีสหกิจศึกษา สหกิจศึกษาเป็นระบบการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ (Work Based Learning) การจัดสหกิจศึกษามีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ
1. เพื่อช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการประยุกต์ความรู้ ทักษะการทำงานและทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวิชาชีพ ได้รู้จักชีวิตที่แท้จริงของการทำงานก่อนสำเร็จการศึกษาและเป็นแนวทางที่สำคัญที่ทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีความสามารถในการปรับตัวและแก้ปัญหาที่เกิดในงาน ทำให้มีความพร้อมมากที่สุดเมื่อสำเร็จการศึกษา
2. ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากโครงงานหรืองานที่นักศึกษาปฏิบัติ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากสหกิจศึกษาเป็นแนวทางหนึ่งในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ
3. สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นผู้ผลิตบัณฑิตได้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้ประกอบการและเกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัยและการสร้างองค์ความรู้ใหม่
2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์
จากวัตถุประสงค์และประโยชน์ของสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยจึงได้นำสหกิจศึกษาเข้ามาผนวกเป็นกลุ่มวิชาเอกเลือกของหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2515 และเป็น 1 ใน 4 สาขาวิชาแรกของมหาวิทยาลัย หลักสูตรได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาตลอดเพื่อให้ทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าด้านวิชาการและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยปรับปรุงทั้งในด้านความรู้และทักษะที่พัฒนาให้กับนักศึกษาและวิธีการสอนที่หลากหลายโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จุดเด่นของหลักสูตรการจัดการ คือ เป็นหลักสูตรที่เน้นพัฒนาให้นักศึกษามีความรู้ความชำนาญที่หลากหลาย ครอบคลุมด้านต่างๆ โดยหลักสูตรได้บูรณาการความรู้และทฤษฎีที่เป็นหลักสำคัญในการบริหารธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย การบริหารจัดการด้านการเงิน การตลาด เทคโนโลยีสารสนเทศ และที่สำคัญคือการบริหารการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ไว้ในหลักสูตร
สำหรับการปรับปรุงหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ซึ่งจัดให้มีสหกิจศึกษานี้ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 และจะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ภาคการศึกษา ที่ 1 ปีการศึกษา 2553 คือ มิถุนายน 2553 หลักสูตรนี้ได้เพิ่มกลุ่มวิชาเลือก 1 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์ นักศึกษาที่เลือกกลุ่มวิชานี้จะมีการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการในภาคการศึกษา ที่ 1 ปีการศึกษาที่ 4 มีจำนวนหน่วยกิต 9 หน่วยกิต จากจำนวนหน่วยกิต รวม 142 หน่วยกิต การฝึกงานของสหกิจศึกษาจะต้องเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลาเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาหรือ 15 สัปดาห์ โดยในขณะที่ฝึกงานนี้ นักศึกษาจะไม่มีการเรียนวิชาอื่นใดๆ จะต้องใช้เวลาปฏิบัติงานเท่านั้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานตามหลัก Learning by Doing
เป้าหมายสูงสุดของสหกิจศึกษาไม่ใช่เพียงการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการและกลับไปมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่คือการเข้าสู่ระบบการทำงานของบัณฑิตก่อนสำเร็จการศึกษา (Employability) หมายความว่าเมื่อปฏิบัติงานและผ่านการประเมินแล้ว นักศึกษาจะได้เข้าทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ ทันทีที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งจะเป็นการประกันการได้งานทำของบัณฑิต
3. การบริหารหลักสูตร
มหาวิทยาลัยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ให้จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง คือที่ศูนย์การศึกษา ACC ณ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ เพื่อจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์และสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยงานมาบริหารหลักสูตรนี้ คือ ACC School of Commerce หรือคณะพาณิชยศาสตร์ ACC โดยในเบื้องแรก มหาวิทยาลัยจะใช้ทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่มาดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยให้คณะบริหารธุรกิจทำหน้าที่พี่เลี้ยงไปก่อน และ ACC School of Commerce จะค่อยๆ เรียนรู้และถ่ายโอนหน้าที่และความรับผิดชอบจนสามารถบริหารหลักสูตรได้ด้วยตนเอง
4. ปัจจัยหลักของความสำเร็จ
ปัจจัยหลักของความสำเร็จของสหกิจศึกษา คือ สถานศึกษากับสถานประกอบการ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เป็นพันธกิจและภารกิจร่วมที่มีนโยบายและแผนงานอย่างชัดเจน มีการกำหนดส่วนงานและบุคลากรผู้รับผิดชอบการจัดการสหกิจศึกษาทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลเพื่อนำผลมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการจัดสหกิจศึกษาให้ดียิ่งขึ้น การจัดสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีแรงผลักดันที่สำคัญจากสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญพาณิชย์ และศิษย์เก่า ACC ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจจำนวนมากมายซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดสหกิจศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาร่วมในงานแถลงข่าวนี้และจะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการจัดให้นักศึกษาของหลักสูตรนี้เข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการ และจะมีการทำงานร่วมกันและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อให้การปฏิบัติงานของนักศึกษาเกิดประโยชน์สูงสุด และสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตมากที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
ทีมประชาสัมพันธ์ ACC School of Commerce
คุณจารุวัลย์ นวาวัตน์ / 0-2719-6444 ext. 221
ดวงใจ แซ่แต้ / 0-2719-6444 ext.213