พม. เปิดเวทีวิพากษ์ ร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว

ข่าวทั่วไป Wednesday January 27, 2010 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--พม. สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดสัมมนา เรื่อง “การนำเสนอผลการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐” (ฉบับปรับปรุงแก้ไข) เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาร่างข้อตกลงความร่วมมือฉบับสมบูรณ์ในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนภารกิจอื่นๆ ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติฯ ในวันพุธที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๓ ณ ห้องกรุงเทพ บอลรูม ชั้น ๒ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาของสังคมซึ่งนับวันจะเพิ่มจำนวนและทวีความรุนแรงมากขึ้น ทุกภาคส่วนของสังคมได้ตระหนักและมุ่งมั่นที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองดูแลผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว คือ การประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการสร้างความร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การบำบัดฟื้นฟูเยียวยา การกำกับติดตาม และการป้องกันเฝ้าระวังในชุมชน โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขณะนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้จัดทำร่างข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัวขึ้น โดยแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับกระทรวง มี ๕ กระทรวงหลักและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สาธารณสุข ยุติธรรม ศึกษาธิการ มหาดไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระดับกรม ทั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติจริงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม “การปฏิบัติงานที่สามารถเติมเต็มในการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา และบำบัดฟื้นฟู ทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวให้มีความสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายสู่ก้าวสำคัญต่อการบรรลุความสำเร็จในการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีจากความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน โดยผลจากการสัมมนาในครั้งนี้ จะนำไปปรับปรุง เพื่อให้บันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ก่อนที่จะได้มีการลงนามร่วมกันในโอกาสต่อไป” นายศุภฤกษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ